ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.ต่างประเทศไต้หวันให้สัมภาษณ์ต่อ Ms. Geeta Mohan พิธีกรรายการ World Today ของสถานีโทรทัศน์ India Today ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
2020-10-16
New Southbound Policy。นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์ต่อ Ms. Geeta Mohan พิธีกรรายการ World Today ของสถานีโทรทัศน์ India Today ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจาก MOFA)
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์ต่อ Ms. Geeta Mohan พิธีกรรายการ World Today ของสถานีโทรทัศน์ India Today ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ชี้แจงว่า ไต้หวัน – อินเดียเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะแสวงหาแนวทางการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานรูปแบบใหม่ร่วมกับอินเดีย ขยายรากฐานธุรกิจของผู้ประกอบการไต้หวันในอินเดีย ตลอดจนร่วมเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

♦ ในอนาคตไต้หวัน – อินเดียสามารถประสานความร่วมมือในเชิงลึกด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับสูง

♦ หากทั่วโลกต้องการร่วมสกัดกั้นโรคระบาดและร่วมฟื้นฟูหลังยุคโควิด – 19 ให้บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์และประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันเป็นสิ่งที่มิสามารถขาดไปได้
-------------------------------------------

MOFA วันที่ 16 ต.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อ Ms. Geeta Mohan พิธีกรรายการ World Today ของสถานีโทรทัศน์ India Today ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยรมว.อู๋ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อสื่อมวลชนและประชาชนชาวอินเดีย ที่ร่วมเผยแพร่ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 109 ปีของวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยไม่เกรงกลัวต่อการคุกคามจากจีน แสดงให้เห็นถึงความสนับสนุนที่มีต่อไต้หวันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า ไต้หวัน – อินเดียเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะแสวงหาแนวทางการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานรูปแบบใหม่ร่วมกับอินเดีย ขยายรากฐานธุรกิจของผู้ประกอบการไต้หวันในอินเดีย ตลอดจนร่วมเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในระหว่างการสัมภาษณ์ภายใน 25 นาทีนี้ รมว.อู๋ฯ ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – อินเดีย ความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกัน ความต้องการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และการเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (The Quad)

 

รมว.อู๋ฯ อธิบายว่า อินเดียเปี่ยมด้วยศักยภาพในการพัฒนาเป็นอย่างมาก การลงทุนในอินเดียของนักธุรกิจไต้หวันก็มีมูลค่าสูงถึง 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสร้างตำแหน่งงานให้กับประชาชนในอินเดียกว่า 65,000 ตำแหน่ง ในอนาคตไต้หวัน – อินเดียสามารถประสานความร่วมมือในเชิงลึกด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับสูง นอกจากนี้ ในประเด็นที่ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การระหว่างประเทศ รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า พฤติกรรมที่จีนขัดขวางไม่ให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในระบบของสหประชาชาติ ขัดแย้งกับกฎบัตรสหประชาชาติอย่างสิ้นเชิง ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตย จึงไม่เพียงคาดหวังที่จะเข้าร่วมใน WHO หากแต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้กับประชาคมโลกด้วย หากทั่วโลกต้องการร่วมสกัดกั้นโรคระบาดและร่วมฟื้นฟูหลังยุคโควิด – 19 ให้บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์และประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันเป็นสิ่งที่มิสามารถขาดไปได้

 

ต่อกรณีการขยายกำลังทหารของจีนในทะเลจีนใต้นั้น รมว. อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จำเป็นต้องอาศัยกลไกของกฎหมายทางทะเลมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยไต้หวันมีสิทธิตามกฎหมายเหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้และน่านน้ำบริเวณโดยรอบอย่างไม่มีข้อกังขา พร้อมทั้งมีสิทธิในการเข้าร่วมกลไกการเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้อย่างแน่นอน เพื่อร่วมธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในพื้นที่ของทะเลจีนใต้ต่อไป

 

สำหรับประเด็นการรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (The Quad) ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย รมว.อู๋ฯ ยินดีที่ได้เห็นภาคีทั้ง 4 ประเทศร่วมแสวงหาแนวทางการรับมือกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก พร้อมระบุว่า ไต้หวันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพและการเข้าถึงอย่างเสรีในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกให้คงอยู่สืบไป

 

สถานีโทรทัศน์ India Today ประกอบด้วยการรายงานข่าวและเว็บไซต์ข่าวสารในรูปแบบภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี ซึ่งมีผู้ติดตามรับชมข่าวสารผ่านช่องทางดังกล่าวกว่า 280 ล้านคน จึงถือว่าเป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก