สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปกป้องความลับทางธุรกิจและป้องกันการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัลของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก กต.ไต้หวันจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จัด “การประชุมว่าด้วยการปกป้องความลับทางธุรกิจและป้องกันการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัล ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) ปี 2020” ระหว่างวันที่ 15 – 16 ต.ค. ณ กรุงไทเป
♦ กิจกรรมในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 รอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นการบัญญัติข้อกฎหมายด้านการปกป้องความลับทางการค้าของประเทศต่างๆ พร้อมร่วมแบ่งปันประสบการณ์จริงในการปราบปรามการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อร่วมเสริมสร้างการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความรัดกุมมากขึ้น
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 15 ต.ค. 63
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปกป้องความลับทางธุรกิจและป้องกันการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัลของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้ร่วมกันจัด “การประชุมว่าด้วยการปกป้องความลับทางธุรกิจและป้องกันการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัล ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) ปี 2020” ระหว่างวันที่ 15 – 16 ต.ค. ณ กรุงไทเป โดยนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายไช่ปี้จ้ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม Mr. W. Brent Christensen (ซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) และ Mr. Akira Yokochi รักษาการผู้แทนญี่ปุ่นประจำไต้หวัน สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน ต่างเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมพร้อมกล่าวปราศรัย
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ทั่วโลกต่างก็แข่งขันกันอย่างเต็มที่ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล รวมถึงการแข่งขันทางการค้า ส่งผลให้เกิดการจารกรรมข้อมูลเชิงพาณิชย์และภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยรมช.เถียนฯ เห็นว่า ทุกประเทศควรประสานความร่วมมือกันในการปกป้องความลับทางการค้า พร้อมทั้งปราบปรามการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อขานรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) โดยสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมสอบสวน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออฟไลน์ พร้อมนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญรวม 180 คนจาก 19 ประเทศ ในแถบภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สาธารณรัฐปาเลา ตูวาลู เป็นต้น เข้ามีส่วนร่วมผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย อนึ่ง กิจกรรมในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 รอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นการบัญญัติข้อกฎหมายด้านการปกป้องความลับทางการค้าของประเทศต่างๆ พร้อมร่วมแบ่งปันประสบการณ์จริงในการปราบปรามการละเมิดสิทธิบัตรทางดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อร่วมเสริมสร้างการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความรัดกุมมากขึ้น