ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
แฟชั่นอันยั่งยืน กลับสู่วิถีชีวิตแห่งการลดทอน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-11-23

คุณเฉินก้วนป่าย ผู้ก่อตั้ง Story Wear (ซ้าย) มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และได้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมนี้ จนตัดสินใจอุทิศทั้งกายและใจเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่

คุณเฉินก้วนป่าย ผู้ก่อตั้ง Story Wear (ซ้าย) มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และได้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมนี้ จนตัดสินใจอุทิศทั้งกายและใจเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่
 

การส่งเสริมให้บริโภค และการผลิตที่ไม่เคยหยุดหย่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย อาทิ เสื้อผ้าเก่ามีจำนวนมาก สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนมลภาวะ และปัญหาสิทธิมนุษยชนในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ช่วงไม่กี่ปีมานี้ วงการอุตสาหกรรมแฟชั่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาความยั่งยืน โดยนำเอาเสื้อผ้าเก่ากลับมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ และนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เริ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต

 

จากสถิติของกรีนพีซ (Greenpeace) พบว่า ชาวไต้หวันอายุระหว่าง 20-45 ปี จะทิ้งเสื้อผ้าในแต่ละปีอย่างน้อยที่สุด 5.2 ล้านตัว เท่ากับว่าในแต่ละนาทีมีคนทิ้งเสื้อผ้าลงถังขยะหรือถังขยะรีไซเคิล 9.9 ตัว

 

เส้นใยสังเคราะห์ ตัวการร้ายที่สร้างความหายนะต่อระบบนิเวศ

อีกหนึ่งปัญหาคือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพราะเส้นใยสังเคราะห์ราคาถูกและใช้งานได้ดี แต่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตมากกว่าฝ้ายถึง 3 เท่า ในปัจจุบันกว่า 60% ของผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์เป็นผลผลิตจากเชื้อเพลิงปิโตรเคมี ดังนั้น เมื่อเสื้อผ้าถูกทิ้งเป็นขยะและนำไปฝังกลบขยะจะไม่ย่อยสลาย อีกทั้งการซักล้างเสื้อผ้ายังทำให้ไมโครไฟเบอร์หลุดลอยและถูกชะล้างลงไปสู่แม่น้ำและมหาสุมทร แม้เวลาผ่านไปนับพันปี เส้นใยพลาสติกเหล่านี้ก็ไม่มีวันย่อยสลาย

เพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่น เหล่าผู้มีอุดมการณ์ต่างก็มีการเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น แคมเปญ “ไม่ผลิตขยะ” ของ Story Wear ที่เก็บรวบรวมเสื้อผ้าและผ้าจากทั่วไต้หวันเพื่อนำกลับมารีไซเคิล ผ่านการออกแบบที่อัพเกรดขึ้นอีกระดับ และยังร่วมมือกับช่างตัดเย็บเสื้อที่เป็นกลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาส ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆ ออกมามากมาย

เมื่อปีค.ศ.2013 คุณเฉินก้วนป่าย (陳冠百) ผู้ก่อตั้ง Story Wear ได้ลาออกจากงานในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นของไต้หวันที่ทำมานานถึง 5 ปี เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ การไปอังกฤษทำให้เขารับรู้เป็นครั้งแรกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นที่แท้ก็เป็นแหล่งเกิดมลภาวะที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษสูงและไม่โปร่งใส มีการขูดรีดแรงงาน ทำงานเกินเวลา จนทำให้เกิดเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นไม่น้อย

 

Story Wear กับการอัพเกรดและผลิตผ้าเดนิม

หลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่ปฏิเสธรับขยะสิ่งทอจากทุกประเทศแล้ว คุณเฉินก้วนป่ายก็ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ขยะจากสิ่งทอที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เสื้อผ้าที่เป็นขยะรีไซเคิลในไต้หวันไม่สามารถจัดการได้ ขยะสิ่งทอทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมในเกาะ นี่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาก่อตั้ง Story Wear

วัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้าของ Story Wear ส่วนใหญ่มาจากการรีไซเคิลกางเกงยีนส์ที่ได้รับบริจาคจากบริษัทต่างๆ หลังผ่านการทำความสะอาดและเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่แล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นเสื้อโค้ทยาวทันสมัย ชุดเดรส หรือกระเป๋าคอมพิวเตอร์ กระเป๋าทิชชู่ เป็นต้น

สิ่งที่ยากที่สุดคือการเลาะกางเกงยีนส์ทั้งหมดให้กลายเป็นผ้าผืนหนึ่ง ทาง Story Wear จึงร่วมมือกับ “กลุ่มช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามหัวมุมถนน” เพื่อผลิตผ้าเดนิม (Denim) ที่ทนทานต่อการซักและไม่เสียทรงง่าย โดยเริ่มจากการเลาะตะเข็บด้ายทั้งหมดออก ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่จริงๆ กลุ่มสตรีที่คุณเฉินก้วนป่าย เรียกว่า “ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามหัวมุมถนน” แท้จริงแล้วพวกเขาคือกลุ่มช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่ชอบงานแก้ไขเสื้อผ้ามือสอง กับกลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาส รวมถึงคุณแม่ในครอบครัวที่มีบุตรเป็นผู้ทุพพลภาพ

และเพื่อให้ช่างเย็บผ้าปฏิบัติตามได้ถูกต้อง คุณเฉินก้วนป่ายจึงทำการออกแบบตัวอย่างให้ดูก่อน ช่างเย็บผ้าต้องทำตามผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นแบบจากกองผ้าซึ่งมีสีสันและความหนาบางแตกต่างกัน โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่รูปแบบคล้ายคลึงกันและเป็นผ้าชนิดเดียวกัน การจับคู่สีให้ถูกต้อง จะต้องดูว่าเป็นลายตาราง ลายทาง หรือลายขวางด้วย ดังนั้นการจับคู่ต้องใช้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก ก่อนจะลงมือเย็บเชื่อมต่อกัน

เมื่อลูกค้าของ Story Wear ทุกคนได้รับสินค้าแล้ว สามารถพลิกดูฉลากที่ติดอยู่บนเสื้อผ้าได้ ซึ่งจะเขียนไว้ว่า ผ้าเดนิมรีไซเคิล เศษผ้า ฝ้าย ระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตแบบแฮนด์เมด และลายเซ็นของช่างตัดเย็บเสื้อผ้า คุณเฉินก้วนป่ายอธิบายว่า วัสดุที่พวกเรานำมาใช้ทำเสื้อผ้าแต่ละชุดมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อนำมาตัดเย็บเข้าด้วยกันจึงมีสีสันและลายผ้าที่ไม่เหมือนกัน ฉลากที่ติดอยู่บนเสื้อผ้าเป็นการเปิดเผยข้อมูลการผลิตและกระบวนการต่างๆ ให้มีความโปร่งใส เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า สิทธิของผู้ใช้แรงงานจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

นับตั้งแต่เปิดตัวแบรนด์ในปีค.ศ.2018 ทาง Story Wear ได้อัพเกรดและผลิตกางเกงยีนส์แล้ว 2,408 ตัว นั่นแสดงให้เห็นว่า มีกางเกงยีนส์กว่า 2,000 ตัวถูกนำมาทิ้ง และถูกนำกลับมารีไซเคิลทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละเดือนจะมีออร์เดอร์ให้กับกลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาสประมาณ 50,000 ตัว จึงถือเป็นการสร้างงานในท้องถิ่นให้มากขึ้นด้วย

 

สวนกระแสแฟชั่น จากขยะสู่สินค้า Boutique

การเปลี่ยนขยะให้เป็นของมีค่าของคุณหลินหยุนถิง (林昀廷) ซึ่งมาจากเขตฟงหยวน นครไทจง กับคุณแพททริเซีย ลิป (Patricia Lip) ที่มาจากฮ่องกง ทั้งสองคนรู้จักกันตอนไปศึกษาที่ The Royal College of Art ในประเทศอังกฤษ และต่างก็มีแนวคิดแฟชั่นอันยั่งยืนเหมือนกัน จึงร่วมกันก่อตั้ง STUDIO LIM ขึ้น

พวกเขาวิจัยพัฒนาเครื่องไม้ที่ทำจากเส้นใยไฟเบอร์ และเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้นำเศษไม้เศษขี้เลื่อย หนังสือพิมพ์เก่า และใยผ้าลินิน กลับมารีไซเคิล โดยใช้วิธีการทำเครื่องเขินแบบดั้งเดิม 8 ขั้นตอน ที่ต้องมีการทาสีและขัดผิวซ้ำๆ จนกระทั่งได้ถาดเนื้อแข็งที่มีผิวเรียบเหมือนแผ่นกระจก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความละเอียดอ่อนและมีลายดอกสวยงาม มีน้ำหนักเบาเหมือนเครื่องเขิน และมีคุณภาพในระดับของสินค้า Boutique ถือเป็นการทำลายความคิดเดิมๆ ของผู้คนที่มีต่อสินค้าจากขยะรีไซเคิลโดยสิ้นเชิง

เดิมทีคุณหลินหยุนถิงกับคุณแพททริเซีย ลิป กำลังมองหาวัสดุบางอย่างมาใช้ทดลองสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท แต่เพราะพรหมลิขิตทำให้พวกเขาได้รู้จักกับคุณ Koon-Yang Lee นักวิทยาศาสตร์แห่ง Imperial College London ซึ่งสารเคลือบผิวนาโนเซลลูโลสของคุณ Koon-Yang Lee นี่เอง ที่กลายเป็นรากฐานสำคัญให้ทั้งคู่พัฒนาเครื่องไม้จากเส้นใยไฟเบอร์ในเวลาต่อมา

 

วัสดุที่ก้าวหน้ากับการประยุกต์ใช้อันล้ำสมัย

ครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้พบกับคุณ Koon-Yang Lee วัสดุเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนา และยังไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดผู้บริโภคได้

พวกเขานำเส้นใยพืชแบบต่างๆ มาทดลองใช้ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน และยังใช้ส่วนผสมของสีที่ต่างกันด้วย โดยมีการทดลองในรูปร่าง ความหนาและความโค้งที่แตกแต่งกัน อาทิ การอัดให้แบนเป็นแผ่น ทำเป็นท่อ โดยทำการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของวัสดุอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จโดยสามารถทำให้เส้นใยลินินแข็งตัวได้ แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการทำวัสดุนาโน แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา โดยนำเอาเส้นใยลินินมาทำเป็นตู้ 1 ตู้ แผ่นกระดานสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง 1 แผ่น และลำโพง 1 ตัว

เส้นใยลินินเป็นเส้นใยที่มีปริมาณการผลิตมากเป็นอันดับสองของโลก พืชล้มลุกที่มีอายุสั้นชนิดนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นประจำทุกปี และยังสามารถเติบโตได้ในพื้นดินที่ขาดน้ำ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก และบ่งบอกว่า ในอนาคตไม่จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่าอีก เพราะเส้นใยลินินสามารถนำมาทำเป็นแผ่นไม้ใช้สำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ได้ด้วย

เครื่องไม้จากเส้นใยไฟเบอร์ยังนำเอาเศษไม้เศษขี้เลื่อยมารีไซเคิลด้วย ทั้งคู่เลือกใช้เศษไม้เศษขี้เลื่อยของต้นเซลโควา (Zelkova) ต้นสนไซเปรส (Cypress) และต้นเมเปิล (maple) จากโรงไม้ในเขตฟงหยวน นครไทจง มาทำการรีไซเคิล โดยผสมกับเส้นใยลินินและย้อมสีเพิ่มเข้าไป แล้วทำออกมาเป็นถาดกับจานขนมที่มีลายไม้อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

เนื่องจากตัววัสดุเดิมเป็นเส้นใยที่ไม่ชอบน้ำ คุณหลินหยุนถิงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการทำเครื่องเขินของเขตฟงหยวนที่มีอายุกว่าร้อยปีมาใช้ในการทาสีเครื่องไม้ใยไฟเบอร์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่กันน้ำได้ “เพียงแค่คุณไม่ได้ตั้งใจทุบทำลายมัน ของใช้ชิ้นเล็กๆ พวกนี้ สามารถใช้งานได้เป็นเวลานาน” เมื่อเร็วๆ นี้พวกเขายังได้นำหนังสือพิมพ์เก่ามาผสม เพื่อทำเป็นถาดจากวัสดุผสม ที่เมื่อมองจากระยะไกลจะคล้ายกับวัสดุหินเจียระไน แต่เมื่อเข้ามามองใกล้ๆ คุณยังสามารถเห็นตัวอักษรที่อยู่บนหนังสือพิมพ์ได้อยู่เลย ซึ่งก็เป็นความพยายามที่ค่อนข้างแปลกใหม่จริงๆ

 

ถนนแห่งความยั่งยืนสายนี้จะเดินต่อไปได้อย่างไร?

นวัตกรรมใหม่ของวัสดุทดสอบ ทำให้ STUDIO LIM สามารถรีไซเคิลเศษไม้และขี้เลื่อยให้กลายเป็นถาด ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็นยากจะคิดได้ถึงคำว่า “ขยะ” “ของมือสอง” และ “รีไซเคิล” โดยถูกนำมาจัดเรียงไว้บนชั้นอย่างงดงาม

คุณหลินหยุนถิงได้พูดถึงความยากลำบากในการผลักดันแนวคิดแห่งความยั่งยืนว่า “คนที่มาซื้อสินค้าของเรา ไม่ใช่เพราะผลิตภัณฑ์นี้มีความยั่งยืน แต่เพราะผลิตภัณฑ์นี้เป็นของสวยงาม” นอกจากนี้ คุณแพททริเซีย ลิป ยังได้กล่าวเสริมว่า “ความยั่งยืนเป็นหัวใจหลักของสินค้าภายใต้แบรนด์ของเรา แต่ในการสื่อสารกับลูกค้านั้น ความยั่งยืนกลับกลายเป็นเพียงมูลค่าเสริมที่เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น” ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้ายอมรับเรื่องความยั่งยืน เงื่อนไขเบื้องต้นของการทำผลิตภัณฑ์คือจะต้องดูแล้วไม่น่าเกลียด เพราะไม่มีลูกค้าคนไหนยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ดูน่าเกลียด

กลับสู่แก่นแท้ความงดงามของวัตถุ หวงแหนสรรพสิ่ง ทะนุถนอมผู้คนและสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว พวกเรามีทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการบริโภค ดังนั้นเราจึงสนับสนุนทุกคนให้ใช้สิ่งของต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด คุณหลินหยุนถิงและคุณแพททริเซีย ลิป ต่างก็เห็นว่าแฟชั่นอันยั่งยืนมีแนวโน้มที่ดีมากในอนาคต โดยหวังว่าผู้บริโภคจะได้เรียนรู้และเข้าใจว่า แฟชั่นอันยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่มันคือทัศนคติในการดำรงชีวิตของพวกเราทุกคน