ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจ Good to Go และ Homeapp123
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-11-30

ซ่งอี๋เจิน (ขวา) และหลี่อี้เหอ (ซ้าย) ใช้ความชำนาญในด้านการออกแบบมาก่อตั้ง Good to Go โดยอาศัยแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์ เกาะ และสรรพสิ่ง

ซ่งอี๋เจิน (ขวา) และหลี่อี้เหอ (ซ้าย) ใช้ความชำนาญในด้านการออกแบบมาก่อตั้ง Good to Go โดยอาศัยแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์ เกาะ และสรรพสิ่ง
 

เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะที่ทรัพยากรบนโลกมีอยู่อย่างจำกัด เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนอาจนำไปสู่วิธีแก้ปัญหา อย่างเช่น “Good to Go” (好盒器) บริการให้เช่ายืมภาชนะ และเว็บไซต์ “Homeapp123” (電電租) บริการให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ได้สร้างรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ชักนำมวลชนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น

 

เครื่องดื่มชาบรรจุแก้วพลาสติกของไต้หวันได้รับความนิยมอย่างมาก สังเกตได้จากยี่ห้อแฟรนไชส์ต่างๆ ที่แพร่หลายไปทั่วโลก เครื่องดื่มเหล่านี้สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างขยะจากแก้วเครื่องดื่มมากถึง 1,500 ล้านใบต่อปี โชคดีที่คุณซ่งอี๋เจิน (宋宜臻) และคุณหลี่อี้เหอ (李翊禾) ผู้ก่อตั้งบริษัท Last Longer Project (人嶼物股份有限公司) ริเริ่มโปรโมทบริการให้เช่ายืมภาชนะ “Good to Go” มอบทางเลือกใหม่สำหรับทดแทนการใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

 

รูปแบบการให้เช่ายืมภาชนะ “แบบไม่เจ็บปวด”

เมื่อมาถึงย่านการค้าเจิ้งซิง นครไถหนาน หรือบริเวณรอบมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (National Cheng Kung University) จะเห็นว่ามีร้านค้าจำนวนไม่น้อยที่ติดป้ายเล็กๆ ซึ่งมีสัญลักษณ์รูปแก้วน่ารักๆ ให้สแกนคิวอาร์โค้ดข้างๆ และเพิ่ม Good to Go เป็นเพื่อนในไลน์ ก็สามารถใช้บริการเช่ายืมภาชนะได้ทันที แค่เพียงโชว์ภาพในหน้าจอมือถือให้ทางร้านดูว่าคุณได้เลือกใช้บริการเช่ายืมภาชนะ ทางร้านก็จะใช้แก้วของ Good to Go บรรจุเครื่องดื่มให้ เมื่อดื่มหมดแล้วค่อยนำแก้วไปคืน ณ ร้านค้าที่ร่วมกับ Good to Go ร้านใดก็ได้ ทีมงานของ Good to Go ก็จะไปรับแก้วที่ใช้แล้วจากร้านค้าคืน แล้วส่งไปยังโรงงานล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค

สำหรับประชาชนแล้ว ไม่ต้องนำแก้วมาเอง และไม่ต้องล้างแก้ว ความเคยชินในการใช้ชีวิตจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทำตัวสบายๆ ก็สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ขั้นตอนการให้บริการที่ดูเหมือนจะง่ายๆ เช่นนี้ แต่ทีมงาน Good to Go กลับต้องทดลองอยู่นานกว่า 2 ปี กว่าจะสัมฤทธิ์ผล

ซ่งอี๋เจินและหลี่อี้เหอ ผู้ก่อตั้งบริษัท เป็นเพื่อนร่วมชั้นสมัยเรียนคณะออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง พวกเขาร่วมก่อตั้งบริษัท Last Longer Project ขึ้นในปีค.ศ.2015 “แค่เพียงนำทรัพยากรที่สามารถใช้ได้กลับมา ก็ช่วยฟื้นคืนชีพให้พวกมันได้ สิ่งของต่างๆ ไม่ควรที่จะสร้างมันขึ้นมาเพื่อทิ้งไป” ซ่งอี๋เจินเล่าถึงแนวคิดของบริษัท

พวกเขาเริ่มต้น “โครงการแก้วในเจิ้งซิง” ของ Good to Go เมื่อปีค.ศ.2017 ย่านการค้าเจิ้งซิงเริ่มทดลองรูปแบบการดำเนินการของ Good to Go โดย Good to Go ได้ทำการสำรวจและวิจัยในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการให้บริการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลา 1 ปีในการออกแบบแก้วที่คิดค้นขึ้นเป็นพิเศษ โดยพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องการทนความร้อน การขนส่ง การล้างทำความสะอาด และกลไกในการนำกลับมาใช้ใหม่หลังจากแก้วเกิดความเสียหาย ในที่สุด พวกเขาเลือกใช้พลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน (Polypropylene: PP) ซึ่งมีพื้นผิวลื่น ไม่เหนียวติดกันมาเป็นวัสดุ และออกแบบแก้วให้สามารถกองซ้อนกันได้ เมื่อส่งกลับมาจากโรงงานทำความสะอาดจะถูกตรวจสอบคุณภาพทีละชิ้น หลังจากสแกนคิวอาร์โค้ดของแก้วแต่ละใบแล้ว จะบรรจุลงในถุงกันน้ำทรงยาวที่บริษัทออกแบบขึ้นเอง เมื่อร้านค้าเปิดถุงออก ก้นแก้วจะอยู่ด้านบน หยิบออกมาใช้ได้สะดวก สำหรับประชาชนผู้บริโภคแล้ว รูปลักษณ์ของแก้วให้ความรู้สึกเปี่ยมไปด้วยดีไซน์ และยังสามารถใช้ร่วมกับถุงหิ้วเครื่องดื่มและหลอดดูดรักษ์โลกที่วางจำหน่ายในท้องตลาดได้ด้วย นอกจากนี้ เมื่อใช้บริการเช่าแก้วแล้วนำกลับมาคืนเรียบร้อยแต่ละครั้ง ยังสามารถสะสมแต้มเพื่อนำไปแลกคูปองส่วนลดอาหารเครื่องดื่มได้อีกด้วย

 

ความจริงใจ ดึงดูดการรวมพลังอันยิ่งใหญ่

การเช่ายืมแก้วนี้ไม่มีค่าเช่า ระยะเวลาจำกัดที่ต้องคืนแก้วคือภายในเที่ยงคืนของวันถัดไป หากเกินระยะเวลาแล้วยังไม่นำมาคืน ระบบจะส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านไลน์และถูกระงับสิทธิ์การใช้บริการ ประชาชนที่ใช้บริการ Good to Go ส่วนใหญ่ยอมรับแนวคิดนี้ และไม่จงใจทำลายขั้นตอนการให้บริการ ดังนั้นปัจจุบันแก้วที่เอาไปแล้วไม่นำมาคืนจึงมีอัตราที่ต่ำมาก

กิจกรรมตลาดนัดเป็นสถานที่ที่สามารถพบเจอ Good to go ได้ เช่น งานเทศกาลดนตรีต้ากั่ง (Megaport Music Festival) และงานเทศกาลดนตรีเวกอัป (Wake Up Festival) ภายในบูธมีเครื่องใช้สำหรับรับประทานอาหาร ทั้งแก้ว จานชาม ช้อนส้อม ประชาชนแค่เพียงไปใช้บริการเช่าที่บูธของ Good to Go ก็สามารถนำไปใช้กับบูธอาหารว่างต่างๆ ภายในงานได้ ช่วยลดปริมาณการใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เป็นอย่างมาก

เมื่อปีที่แล้ว นอกจาก Good to Go ได้โปรโมทแก้วกับร้านค้ามากขึ้น ยังพัฒนาเครื่องรับแก้วคืนด้วยตนเองอีกด้วย เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดบนแก้ว และใส่แก้วเข้าไปในเครื่อง ทีมงานก็จะมารับแก้วกลับไป เพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการนำแก้วกลับมาคืนมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าขณะนี้ความร่วมมือกับร้านค้าต่างๆ ยังคงอยู่ระหว่างการโปรโมท และยังต้องเสาะแสวงหารูปแบบของธุรกิจที่เป็นไปได้ต่อไป แต่กระนั้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่ Good to Go ลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาขยะภาชนะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนั้น ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก

เช่น โรงพยาบาลกวงเถียน นครไทจง, กองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองซินจู๋ และกองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เทศบาลนครไถหนาน ต่างทยอยให้การสนับสนุนในรูปแบบโครงการความร่วมมือ ในนครไถหนานมีร้านสะดวกซื้อบางแห่งที่ใช้ภาชนะของ Good to Go บรรจุกาแฟ นับจนถึงสิ้นปีค.ศ.2019 Good to Go ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการลดปริมาณการใช้ภาชนะที่ใช้แล้วทิ้งไปได้กว่า 67,000 ใบแล้ว

 

สร้างคุณค่าใหม่ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

จากความคิดสร้างสรรค์ของชาวไต้หวัน ไม่น่าเชื่อเลยว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างเครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ จะสามารถเช่าผ่านระบบออนไลน์ได้

Homeapp123 ถือกำเนิดขึ้นบนโลกออนไลน์เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2018 เป็นแพลตฟอร์มสำหรับแบ่งปันให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแห่งแรกของโลก ประชาชนเพียงแค่สมัครสมาชิก ถ่ายรูปเครื่องใช้ไฟฟ้าของตนแล้วอัปโหลด กรอกข้อมูลของเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นก็จะเข้ามาอยู่ในรายการสินค้า และเจ้าของก็จะกลายเป็น “ผู้ให้เช่า” ที่เปิดให้ผู้คนบนโลกอินเตอร์เน็ตค้นหาเครื่องใช้ไฟฟ้าได้

เรื่องที่น่าประหลาดใจก็คือ ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนต่างไม่มีภูมิหลังด้านวิศวกรรมสารสนเทศเลย แต่พวกเขามีความคิดริเริ่มที่มากกว่าคนทั่วไปนิดหน่อยเท่านั้นเองในการสร้างเว็บไซต์ Homeapp123 ขึ้นมา

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปีค.ศ.2016 คุณแม่ผู้ทำงานประจำสองคน คือ คุณจวงฮุ่ยจวิ้น (莊惠珺) และคุณเกาหรงฉี (高蓉琦) ได้สมัครเข้าคอร์สอบรม “อิสระทางการเงิน” ของบริษัท Richark Company (財富方舟股份有限公司) และเลือกโครงการให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อทำการวิจัย พวกเขาได้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มียี่ห้อ ทั้งเครื่องดูดฝุ่นและหุ่นยนต์กวาดพื้นมาเปิดให้สมาชิกของ Richark สามารถทดลองเช่าฟรี ในระหว่างนั้นก็ศึกษาวางแผนในรายละเอียดทั้งเรื่องขั้นตอนการเช่า การร่างสัญญา และการกำหนดราคาค่าเช่า นอกจากนี้ ยังขอให้สมาชิกที่ชำนาญด้านการสร้างเว็บไซต์ใช้ Google Forms สร้างเว็บไซต์อย่างง่ายๆ ขึ้น คาดไม่ถึงว่าจะมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ไม่รู้จักมานัดหมายเพื่อขอเช่าจริงๆ ทั้งสองคนจึงสัมผัสได้ถึงความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้า ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2017 พวกเขาจึงได้ก่อตั้งบริษัท Homeapp123 อย่างเป็นทางการ

 

ความต้องการเช่ามีอยู่ทั่วทุกแห่งหน

เกาหรงฉีเล่าว่า ในตอนแรกคาดว่าต้องเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาแพงหลักหมื่นจึงจะมีคนเช่า ดังนั้นพวกเขาจึงกำหนดราคาค่าเช่า 2 แบบ คือ ยืมวันอังคาร คืนวันศุกร์ ค่าเช่า 500 เหรียญไต้หวัน กับยืมวันเสาร์ คืนวันจันทร์ ค่าเช่า 700 เหรียญไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อใดหรือประเภทใดก็ตาม ค่าเช่าจะแบ่งเป็นวันธรรมดากับวันหยุดแค่ 2 แบบเท่านั้น หลังจากดำเนินธุรกิจจริงๆ จึงพบว่า กระทั่งหม้อไฟฟ้าที่ราคาไม่กี่พันเหรียญ ก็มีคนยินดีที่จะจ่ายค่าเช่าในราคา 500 เหรียญเช่นกัน

กลุ่มผู้เช่าแบ่งออกคร่าวๆ ได้ 3 ประเภท ประเภทแรก คือ มีความต้องการใช้งาน แต่ไม่อยากซื้อ กลุ่มที่ 2 คือ ต้องการทดลองใช้ เกาหรงฉีกล่าวว่า หากทุกคนยินดีที่จะใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในการแบ่งปันเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวให้แก่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของตน ยังช่วยลดการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามากองไว้ในบ้านและลดปริมาณการผลิตลงด้วย “ไม่ใช่ว่าเราสนับสนุนให้ทุกคนไม่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ต้องการให้พวกเขาคิดให้ดีก่อนซื้อ”

ส่วนประเภทที่ 3 คือ ความต้องการในเชิงพาณิชย์ เช่น มีบริษัทที่ต้องการกำจัดกลิ่นจากการตกแต่งทาสีใหม่ จึงเช่าเครื่องฟอกอากาศจำนวน 10 เครื่อง เพื่อให้พนักงานมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี หรือกองถ่ายละครโทรทัศน์ต้องการเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากในบ้านหรู เป็นต้น ปัจจุบันนี้ Homeapp123 ได้รับความต้องการเช่าที่หลากหลาย ทั้งโคมไฟดักยุง เตาไฟฟ้า ใบรายการสั่งจองในเชิงพาณิชย์โดยปกติแล้วจะมีจำนวน 10 ชิ้นขึ้นไปต่อครั้ง เกาหรงฉีเล่าว่า Homeapp123 มักถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นบริษัทที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดมาเพื่อปล่อยเช่า แต่ที่จริงแล้วความต้องการเช่านั้นมีหลากหลายมาก ไม่มีบริษัทใดที่จะรับภาระในการจัดเก็บคลังสินค้าได้ในจำนวนมหาศาล ซึ่งที่จริงแล้วแหล่งทรัพยากรที่ใหญ่ที่สุดนั้นซ่อนอยู่ในบ้านของแต่ละคนนั่นเอง

Homeapp123 ได้กระตุ้นให้ผู้คนรู้จักสิทธิ์ในการใช้งาน ไม่ใช่แค่สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ การทำสินค้าให้เป็นการบริการได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ในอนาคต การซ่อมบำรุงสินค้า ความเป็นไปได้ในการนำกลับมาใช้ใหม่ในภายหลัง ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาขณะออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น บริษัท Color Park International Group (漾拓國際股份有限公司) ส่งเสริมการเช่าอุปกรณ์หลอดไฟ LED โดยบริษัทจะทำหน้าที่ซ่อมบำรุง สำหรับผู้ใช้งานที่เช่า จะได้ทั้งประหยัดพลังงานและประหยัดทรัพยากรด้วย

ผู้ก่อตั้งสองคนของ Homeapp123 ที่ในตอนแรกเป็นเพียงคุณแม่ผู้ทำงานประจำและอยากจะหารายได้เสริมจากการให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่นึกเลยว่าจะบังเอิญประสบความสำเร็จจนกระทั่งกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าดูถูกพลังแห่งจินตนาการ บางทีแค่เพียงพลังขับเคลื่อนเล็กๆ ก็อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง การเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เราสามารถทำได้มากกว่าที่คิด