ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2020 เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันที่ 26 ต.ค. นี้
2020-10-20
New Southbound Policy。ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2020 เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันที่ 26 ต.ค. นี้
ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2020 เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันที่ 26 ต.ค. นี้

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานบริหารการรถไฟแห่งไต้หวัน ร่วมมือกันจัด “ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2020” โดยรถไฟขบวนนี้มีกำหนดการออกเดินทางวิ่งรอบเกาะไต้หวันเป็นเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 – 29 ต.ค.

♦ ขอบเขตของกิจกรรมในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในดินแดนของไต้หวันรวม 16 แห่งและเกาะรอบนอกของไต้หวัน อาทิ จินเหมิน เผิงหู เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,500 คน โดยกิจกรรมในปีนี้ยังได้ขยายขอบเขตพื้นที่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 8 โบกี้ สรรสร้างเป็นห้องทดลองเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่กว้างขวางและมีความหลากหลาย

♦ การร่วมแบ่งปันทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์ซึ่งกันและกัน นอกจากจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาทั่วทุกพื้นที่ในไต้หวัน ร่วมสัมผัสกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หลากหลายรูปแบบด้วยตนเอง
-------------------------------------------
MOST วันที่ 19 ต.ค. 63

 

เพื่อสรรสร้างสภาพแวดล้อมด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลาย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology, MOST) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานบริหารการรถไฟแห่งไต้หวัน กระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ร่วมมือกันจัด “ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2020” โดยรถไฟขบวนนี้มีกำหนดการออกเดินทางวิ่งรอบเกาะไต้หวันเป็นเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 – 29 ต.ค. โดยจะเริ่มออกเดินทางจากสถานีรถไฟไทเป ซึ่งรถไฟขบวนนี้วิ่งลงสู่ภาคใต้ตามเส้นทางตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกของเกาะไต้หวัน โดยจะจอดเทียบชานชาลาของสถานีต่างๆ ดังต่อไปนี้ ปั่นเฉียว เถาหยวน ซินจู๋ ซินจู๋ตอนใต้ เหมียวลี่ ไถจง ซินอูรื่อ เอ้อซุ่ย โต่วหนาน เจียอี้ ซินจั่วอิ๋ง ผิงตง เฉาโจว และจะวิ่งวนกลับสู่พื้นที่ทางภาคเหนือตามเส้นทางตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวัน โดยจะจอดเทียบชานชาลาของสถานีต่างๆ ดังต่อไปนี้ ไถตง อวี้หลี่ กวงฟู่ ฮวาเหลียน ซินเฉิง อี๋หลาน โหวถง ชีตู่ จีหลง โดยมีกำหนดการจะจัดพิธีปิดฉากขึ้น ณ สถานีรถไฟจีหลงในวันที่ 29 ต.ค.

 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ต่างได้รับความนิยมจากบรรดานักเรียนและผู้ปกครองทั่วทุกพื้นที่ในไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยกิจกรรมในปีนี้ได้บูรณาการทรัพยากรจากแวดวงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาควิชาการและการวิจัย รวมไปถึงกลุ่มปฏิบัติการโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์รวม 18 กลุ่ม หน่วยงานสปอนเซอร์รวม 17 หน่วยงาน และโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษารวม 10 แห่ง โดยทุกภาคส่วนได้ร่วมกันวางแผนจัดกิจกรรมภายในสถานีรถไฟและชานชาลา รวมถึงกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์บนขบวนรถไฟ ทั้งนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมให้บรรดานักเรียนสามารถสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ ทั้งในขณะที่รอขึ้นรถไฟ ในระหว่างที่รถไฟกำลังมุ่งหน้าสู่สถานีถัดไป และหลังจากที่รถไฟเทียบชานชาลา โดยขอบเขตของกิจกรรมในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในดินแดนของไต้หวันรวม 16 แห่งและเกาะรอบนอกของไต้หวัน อาทิ จินเหมิน เผิงหู เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,500 คน นอกจากนี้ กิจกรรมในปีนี้ยังได้ขยายขอบเขตพื้นที่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ออกเป็น 8 โบกี้ สรรสร้างเป็นห้องทดลองเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่กว้างขวางและมีความหลากหลาย ขณะเดียวกันภายนอกของโบกี้ก็ได้มีการแต่งแต้มด้วยโฆษณาที่ดูสดใสมีชีวิตชีวา ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างให้องค์ประกอบของวิทยาศาสตร์มีความใกล้ชิดกับชีวิตของผู้คนมากยิ่งขึ้น

 

ขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะไต้หวันนับเป็นการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ของไต้หวันเข้าไว้ด้วยกัน การร่วมแบ่งปันทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์ซึ่งกันและกันนอกจากจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาทั่วทุกพื้นที่ในไต้หวัน ร่วมสัมผัสกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หลากหลายรูปแบบด้วยตนเอง ในขณะที่โดยสารขบวนรถไฟวิ่งรอบเกาะและสภาพแวดล้อมโดยรอบในสถานี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ุในอนาคตตั้งแต่ยังเยาว์ ขณะเดียวกันก็เป็นการปลุกสัญชาตญาณการสำรวจเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน ร่วมแสวงหาคำตอบของปัญหาที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ด้วยการประยุกต์ใช้จิตวิญญาณทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา

 

นายอู๋เจิ้งจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า การกำหนดนโยบายทางวิทยาศาสตร์ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล โดยการพัฒนาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตของไต้หวัน จะยึดมั่นในเป้าหมาย “นวัตกรรม การยอมรับซึ่งกันและกัน และการพัฒนาที่ยั่งยืน” มุ่งเน้นการบ่มเพาะบุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มกำลัง ซึ่งพวกเรานอกจากคาดหวังที่ต้องการพลิกอนาคตด้วยศักยภาพที่เหลือล้นของบรรดาเยาวชนแล้ว ยังคาดหวังที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ยึดมั่นในทิศทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไปในภายภาคหน้าอีกด้วย