ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว. ต่างประเทศไต้หวันให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่สถานีโทรทัศน์ WION ของอินเดีย
2020-10-23
New Southbound Policy。Ms. Palki Sharma พิธีกรรายการ Straight Talk ของสถานีโทรทัศน์ WION ในอินเดีย ทำการสัมภาษณ์นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (ภาพจาก MOFA)
Ms. Palki Sharma พิธีกรรายการ Straight Talk ของสถานีโทรทัศน์ WION ในอินเดีย ทำการสัมภาษณ์นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของไต้หวันที่ยืนหยัดปกป้องคุณค่าแห่งประชาธิปไตยอยู่ในแนวหน้า

♦ ในขณะที่อำนาจเผด็จการได้แผ่ขยายอิทธิพลสู่ภายนอก ทำให้ไต้หวันซึ่งตั้งอยู่ในแนวหน้า จึงหวังจะสร้างความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างอินเดีย โดยไต้หวันจะระมัดระวังในการจัดการกับปัญหาสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจีนใช้เป็น “แพะรับบาป”
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 21 ต.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Ms. Palki Sharma พิธีกรรายการ Straight Talk ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ WION ของอินเดีย โดยรมว.อู๋ฯ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนประจำสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิบุกเข้าไปก่อกวนงานเฉลิมฉลองแห่งวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่สำนักงานตัวแทนไต้หวันในฟิจิเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนชาวไต้หวันเกิดความรู้สึกไม่พอใจจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งไต้หวันได้ใช้ช่องทางที่เหมาะสมในการแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวแล้ว พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของไต้หวันที่ยืนหยัดปกป้องคุณค่าแห่งประชาธิปไตยอยู่ในแนวหน้า พร้อมทั้งกล่าวถึงการข่มขู่ด้วยกำลังทหารและการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ของจีน รวมถึงประเด็นที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิกเฉยต่อคำเตือนของไต้หวันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – อินเดีย เป็นต้น

 

รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า อินเดียและจีนมีความขัดแย้งในเรื่องของพรมแดน อีกทั้งจีนมีต้องการที่จะขยายแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ โดยในช่วงที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army, PLA) ได้เพิ่มความถี่ในการส่งเครื่องบินทหารรุกล้ำเส้นแบ่งเขตน่านฟ้ากึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน และในขณะที่อำนาจเผด็จการได้แผ่ขยายอิทธิพลสู่ภายนอก ทำให้ไต้หวันซึ่งตั้งอยู่ในแนวหน้า จึงหวังจะสร้างความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างอินเดีย โดยไต้หวันจะระมัดระวังในการจัดการกับปัญหาสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจีนใช้เป็น “แพะรับบาป” เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการบริหารปกครองภายในประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าจีน–สหรัฐ โรคระบาด รวมไปจนถึงภัยธรรมชาติ

 

รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวว่า เมื่อปลายปี 2019 ไต้หวันได้ส่งข้อมูลเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ให้กับ WHO โดยได้กล่าวเตือนอย่างมีนัยสำคัญว่า มีความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาดจากคนสู่คน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจาก WHO และแม้ว่าไต้หวันจะประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคระบาด แต่ก็ยังไม่ได้รับเชิญให้เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) แต่ถึงกระนั้น ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับไต้หวันแล้ว ไต้หวันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อินเดียจะให้การสนับสนุนไต้หวันด้วยเช่นกัน

 

รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ส่งผลให้ไต้หวัน – อินเดียมีโอกาสในการประสานความร่วมมือในเชิงลึกด้านการแพทย์ เทคโนโลยี การเกษตร การศึกษา รวมถึงเศรษฐกิจและการค้า โดยเมื่อปี 2018 หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายร่วมลงนาม “ความตกลงด้านการลงทุนแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – อินเดีย” นักธุรกิจไต้หวันก็เข้าลงทุนในอินเดียคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสร้างตำแหน่งงานให้กับชาวอินเดียกว่า 65,000 ตำแหน่ง เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตไต้หวัน – อินเดียจะสามารถสร้างความร่วมมือในเชิงลึกด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

 

ทั้งนี้ “สถานีโทรทัศน์ WION” เป็นช่องข่าวนานาชาติที่รายงานข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ภายใต้เครือ Zee News ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อมวลขนของอินเดีย โดยขอบเขตการออกอากาศครอบคลุมทุกภาคส่วนในอินเดีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีเรตติ้งการรับชมผ่านทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตกว่า 220 ล้านวิว