ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ธารน้ำใจไร้พรมแดน ไต้หวันส่งมอบความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย – เมียนมาไม่ขาดสาย
2020-10-26
New Southbound Policy。นายหลี่อิ้งหยวน ผอ. TECO บริจาคเงินจำนวน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ TBC เพื่อให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงและยกระดับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย - เมียนมา (ภาพจาก TECO)
นายหลี่อิ้งหยวน ผอ. TECO บริจาคเงินจำนวน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ TBC เพื่อให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงและยกระดับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย - เมียนมา (ภาพจาก TECO)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้บริจาคเงินจำนวน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับองค์กร TBC เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติการในโครงการด้านการศึกษาและการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย - เมียนมา

♦ การส่งมอบความห่วงใยและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นค่านิยมหลักของนโยบายการทูตไต้หวัน

♦ นายหลี่อิ้งหยวน ผอ. TECO กล่าวขณะสัมภาษณ์ว่า “ที่ใดต้องการความช่วยเหลือ ไต้หวันจะไปที่นั่น” นี่เป็นสปิริตและวิสัยทัศน์ของไต้หวันในการผลักดันการทูตเชิงมนุษยธรรม
-------------------------------------------
TECO วันที่ 20 ต.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา นายหลี่อิ้งหยวน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) ได้ร่วมลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือประจำปีกับ Ms. Sally Thompson ประธานองค์กร The Border Consortium (TBC) ในประเทศไทย โดยไต้หวันมีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินจำนวน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ TBC เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติการในโครงการด้านการศึกษาและการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย - เมียนมา ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถในการดำรงชีวิตให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยและผู้ยากไร้ในพื้นที่

 

นายหลี่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การส่งมอบความห่วงใยและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นค่านิยมหลักของนโยบายการทูตไต้หวัน โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต ไต้หวัน – ไทยจะเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่มากขึ้นในประเด็นการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม ร่วมเสริมสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้ นายหลี่ฯ ยังได้ประกาศว่าจะบริจาคหน้ากากผ้าจำนวน 12,000 ตามความต้องการของค่ายผู้ลี้ภัยในพื้นที่ให้กับ TBC นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยยกระดับสวัสดิการด้านสาธารณสุขและการป้องกันโรคระบาดให้กับพื้นที่ Ms. Thompson เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบริจาคในครั้งนี้ พร้อมกล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ด้วยใจจริง อีกทั้งยังเน้นย้ำว่า การที่ไต้หวันให้การสนับสนุนต่อโครงการของ TBC ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย – เมียนมาเป็นจำนวนมาก คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไต้หวันจะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

หลังเสร็จสิ้นการลงนาม นายหลี่ฯ กล่าวขณะสัมภาษณ์ว่า “ที่ใดต้องการความช่วยเหลือ ไต้หวันจะไปที่นั่น” นี่เป็นสปิริตและวิสัยทัศน์ของไต้หวันในการผลักดันการทูตเชิงมนุษยธรรม อีกทั้งแนวคิดนี้ยังนับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้เร่งผลักดันนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นต้นมา เน้นย้ำให้เห็นถึงการแสดงความห่วงใยและการสร้างปฏฺิสัมพันธ์โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “สร้างหลักประกันทางสุขภาพและสวัสดิการที่ดีให้กับมวลมนุษยชาติทุกวัย” ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่สหประชาชาติ (UN) เร่งส่งเสริมมาเป็นเวลานาน อนึ่ง ไต้หวันพร้อมก้าวเดินไปข้างหน้ากับประชาคมโลกบนเส้นทางแห่งการให้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ร่วมแสดงความห่วงใยและให้ความเคารพต่อคุณค่าของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม

 

ตราบจนปัจจุบัน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ที่รัฐบาลไต้หวันได้มอบเงินอุดหนุนในโครงการปฏิบัติการดูแลผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดนไทย – เมียนมาให้กับ TBC และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ให้การบริจาคอย่างเป็นรูปธรรม