ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมพันธมิตรระหว่างไต้หวัน – อาเซียน – อินเดีย ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันรุกขยายตลาดในยุคหลังโควิด - 19
2020-10-27
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 21 ต.ค. กระทรวงเศรษฐการจัดการประชุมขึ้น พร้อมติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่การทูตของประเทศอาเซียนและอินเดียที่ประจำในไต้หวัน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทางภาคอุตสาหกรรม (ภาพจาก MOEA)
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. กระทรวงเศรษฐการจัดการประชุมขึ้น พร้อมติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่การทูตของประเทศอาเซียนและอินเดียที่ประจำในไต้หวัน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทางภาคอุตสาหกรรม (ภาพจาก MOEA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ก.เศรษฐการไต้หวัน (MOEA) ได้มีการจัด “การประชุมสัมมนาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ว่าด้วยการลงทุนระหว่างไต้หวัน – อาเซียน – อินเดีย ปี 2020” และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจแบบตัวต่อตัว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่การทูตที่ประจำอยู่ในไต้หวันได้ร่วมเจรจากันโดยตรง

♦ MOEA จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันแสวงหาโอกาสทางการตลาดและรูปแบบความร่วมมือที่เป็นไปได้ในประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในแง่ของการลงทุนและความร่วมมือทางภาคอุตสาหกรรม

♦ ประเทศแห่งการลงทุนทางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ประกอบการไต้หวันเล็งเป้าไว้ในภายภาคหน้า ได้แก่ เวียดนาม ไทย และอินเดีย เป็นต้น
-------------------------------------------
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 21 ต.ค. 63

 

เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันรุกขยายตลาดเข้าสู่อาเซียนและอินเดีย พร้อมทั้งคว้าโอกาสด้านการลงทุนในยุคหลังโควิด – 19 ด้วยมาตรการแบบล่วงหน้า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. สำนักกิจการการลงทุน กระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs, MOEA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “การประชุมสัมมนาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ว่าด้วยการลงทุนระหว่างไต้หวัน – อาเซียน – อินเดีย ปี 2020” (Taiwan - Asean - India Strategic Investment Partnership Forum) ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไทเป โดยได้ติดต่อเชิญ Mr.Tony Phoo ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับอาวุโสของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ดูแลบริหารในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ Ms. Karen Ma หัวหน้าศูนย์ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศแห่งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ พร้อมทั้งติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ทางการทูตของประเทศอาเซียนและอินเดียที่ประจำในไต้หวันเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทางภาคอุตสาหกรรม โดยในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจแบบตัวต่อตัว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่การทูตที่ประจำอยู่ในไต้หวันได้ร่วมเจรจากันโดยตรง ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมเป็นจำนวน 300 คน บรรยากาศการแลกปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก

 

นายจางหมิงปิน ผู้อำนวยการสำนักกิจการการลงทุนของไต้หวัน ระบุว่า ภายใต้ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และความขัดแย้งจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ผู้ประกอบการไต้หวันได้ปรับรูปแบบการจัดตั้งสายการผลิตที่เดิมกระจุกตัวอยู่ในจีน มาสู่การขยายฐานการผลิตยังต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง และย้ายฐานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงกลับสู่ไต้หวัน โดย MOEA จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันแสวงหาโอกาสทางการตลาดและรูปแบบความร่วมมือที่เป็นไปได้ในประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในแง่ของการลงทุนและความร่วมมือทางภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งร่วมลงนามและอัพเดทความตกลงว่าด้วยการสร้างหลักประกันด้านการลงทุนกับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ต่อไป เพื่อรักษาสิทธิด้านการลงทุนของผู้ประกอบการไต้หวัน

 

Mr.Tony กล่าวว่า หากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ไม่คลี่คลายลง ทั่วโลกจะก้าวเข้าสู่ระบบคู่ขนาน สืบเนื่องจากพื้นที่ในประเทศอาเซียนและอินเดียประกอบด้วยห่วงโซ่อุปทานแบบระบบคู่ขนาน ซึ่งสามารถให้บริการได้ทั้งในรูปแบบสหรัฐฯ และรูปแบบจีน จึงนับว่าเป็นฐานการผลิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด Ms. Karen ชี้ว่า ประเทศแห่งการลงทุนทางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ประกอบการไต้หวันเล็งเป้าไว้ในภายภาคหน้า ได้แก่ เวียดนาม ไทย และอินเดีย เป็นต้น

 

สำนักกิจการการลงทุน แถลงว่า เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคโควิด – 19 MOEA ได้ดำเนินการภารกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องผ่าน “ช่องทางการลงทุนในไต้หวัน” ของ 6 ประเทศ อาทิ จัดการประชุมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อส่งมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาในยุคหลังโควิด – 19 ให้กับประเทศหลักในเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ตรวจสอบและทำความเข้าใจกับสถานการณ์การบริหารกิจการของผู้ประกอบการไต้หวัน รวบรวมข้อคิดเห็นและคำชี้แนะของผู้ประกอบการไต้หวัน ผ่านฝ่ายเศรษฐกิจในสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำพื้นที่นั้นๆ พร้อมยื่นเสนอต่อรัฐบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันรุกขยายตลาดเข้าสู่อาเซียนและอินเดียอย่างเป็นรูปธรรม