สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อปี 2019 ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งกลไกการประชุมหารือว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขึ้น โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันอภิปรายเพื่อแสวงหาแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกด้านการส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิสตรี และธรรมาภิบาล ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย
♦ ไต้หวันเป็นป้อมปราการแนวหน้าที่มุ่งมั่นธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตย พฤติกรรมยั่วยุที่จีนดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการมุ่งเป้ามาที่ไต้หวันแล้ว ยังเป็นการส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย ไต้หวันจึงขอเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยทั้งหมดเฝ้าระวังต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
♦ ในอนาคต ไต้หวัน – สหรัฐฯ จะส่งเสริมความร่วมมือในเชิงลึกกับสหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนา สิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี ปราบปรามการจงใจเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต รัฐบาลที่โปร่งใส และการเลือกตั้งที่ยุติธรรม
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 28 ต.ค. 63
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (2nd US-Taiwan Indo-Pacific democratic governance consultations held in Taipei) โดยได้จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งทางฝั่งไต้หวันได้จัดขึ้นในรูปแบบออฟไลน์ ณ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) โดยผนวกเข้ากับการจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน ได้ทำหน้าที่กล่าวปราศรัยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ Mr. Robert Destro ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน ก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยพร้อมทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังได้เชิญให้สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย (National Democratic Institute, NDI) สถาบันอินเตอร์เนชั่นแนลรีพับลิกัน (International Republican Institute, IRI) กองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy, NED) องค์กร Freedom House มูลนิธิประชาธิปไตยไต้หวัน (Taiwan Foundation for Democracy) สมาคมพัฒนาด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาคมโลกของไต้หวัน (Taiwan AID) มูลนิธิ Open Culture Foundation และมูลนิธิลี่ซิน (The Garden of Hope Foundation) เป็นต้น มาร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อปี 2019 ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งกลไกการเจรจานี้ขึ้น โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันอภิปรายเพื่อแสวงหาแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกด้านการส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิสตรี และธรรมาภิบาล ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย รมว.อู๋ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นป้อมปราการแนวหน้าที่มุ่งมั่นธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตย พฤติกรรมยั่วยุที่จีนดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการมุ่งเป้ามาที่ไต้หวันแล้ว ยังเป็นการส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย ไต้หวันจึงขอเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยทั้งหมดเฝ้าระวังต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ในปีนี้ Mr. Robert Destro ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และ Ms. Kelley Currie เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิสตรีทั่วโลก ได้เดินทางมาร่วมจัดการประชุมเชิงเสวนากับไต้หวันเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ก็ได้มีการจัดการประชุมรวบรวมข้อสรุป โดยได้ทำการติดตามผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ที่มีการจัดการประชุมหารือครั้งแรกเป็นต้นมา พร้อมทั้งกำหนดทิศทางความร่วมมือในช่วง 1 ปีข้างหน้าตามลำดับความสำคัญ โดยในอนาคต ไต้หวัน – สหรัฐฯ จะส่งเสริมความร่วมมือในเชิงลึกกับสหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนา สิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี ปราบปรามการจงใจเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต รัฐบาลที่โปร่งใส และการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เป็นต้น ตลอดจนร่วมปกป้องค่านิยมสากลในด้านประชาธิปไตย พร้อมทั้งเสริมสร้างให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ก้าวสู่เสรีภาพ เปิดกว้าง และความเจริญรุ่งเรืองสืบไป