สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ สหภาพรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรจีน (IPAC) ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเปิดเผย โดยเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ที่มีกำหนดการจะจัดขึ้นในเร็ววันนี้
♦ ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันได้กลายเป็นต้นแบบให้กับประชาคมโลก โดยจำนวนผู้ป่วยยืนยันและผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าวในไต้หวันได้รักษาระดับคงที่มาโดยตลอด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้ก้าวสู่หลักชัยที่ไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลา 200 วัน
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 3 พ.ย. 63
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. สหภาพรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรจีน (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างสมาชิกรัฐสภาของประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเปิดเผย โดยเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ที่มีกำหนดการจะจัดขึ้นในเร็ววันนี้ รวมถึงกิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO อย่างเป็นรูปธรรม
กต.ไต้หวันชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า IPAC มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และมีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนในระดับโลก กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณ IPAC ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน WHO อย่างเป็นรูปธรรมด้วยใจจริง
ทั้งนี้ สาระสำคัญในแถลงการณ์ดังกล่าวชี้ว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันได้กลายเป็นต้นแบบให้กับประชาคมโลก โดยจำนวนผู้ป่วยยืนยันและผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าวในไต้หวันได้รักษาระดับคงที่มาโดยตลอด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้ก้าวสู่หลักชัยที่ไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลา 200 วัน อย่างไรก็ตาม โรคระบาดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชาวไต้หวันอย่างจำกัด สมควรแก่การที่รัฐบาลและภาคประชาชนในประเทศต่างๆ จะนำไปอ้างอิงและประยุกต์ใช้ต่อไป นอกจากนี้ IPAC ยังได้เรียกร้องให้นายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุ (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระลึกถึงเป้าหมายที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “หากไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงความปลอดภัย ก็ไม่มีใครที่จะปลอดภัยจริงๆ” (No one is safe until everyone is safe) โดยเฉพาะขณะนี้ที่ทั่วโลกกำลังประสานความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาด ยิ่งไม่สามารถขาดไต้หวันไปได้
IPAC เกิดจากการรวมตัวระหว่างสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรคกว่า 170 คนจาก 18 ประเทศและรัฐสภายุโรป ประกอบด้วย ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ เช็ก เยอรมนี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี ญี่ปุ่น ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ สวีเดน ยูกันดา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างให้สมาชิกรัฐสภาของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันประสานความร่วมมือในเชิงลึกเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเคารพต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยระดับนานาชาติ และสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ผ่านวิธีการบัญญัติกฎหมาย โดยแถลงการณ์ข้างต้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ipac.global/