ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทยมอบ “รางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียครั้งที่ 8” ให้สาวไทย
2020-11-06
New Southbound Policy。นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยมอบรางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียครั้งที่ 8 ด้านสิทธิมนุษยชน ให้กับนางสาวศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงชาวไทย (ภาพจาก TECO)
นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยมอบรางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียครั้งที่ 8 ด้านสิทธิมนุษยชน ให้กับนางสาวศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงชาวไทย (ภาพจาก TECO)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ นางสาวศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงชาวไทยสามารถคว้า “รางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียครั้งที่ 8 ด้านสิทธิมนุษยชน” มาครองได้สำเร็จ และได้รับคัดเลือกให้เป็นยุวทูตหญิงแห่งเอเชีย ประจำปี 2020 เพื่อเป็นแบบอย่างด้านการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเยาวชนในเอเชีย

♦ ในปีนี้ รัฐบาลไทยได้ผ่านญัตติว่าด้วยการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันและไทยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น โดยผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในไทยหวังว่า ไต้หวัน – ไทย ซึ่งเป็นสังคมที่เป็นพลังแห่งความดีงาม จะร่วมเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สตรี และสิทธิเยาวชน เป็นต้น

♦ มูลนิธิลี่ซินคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะค้นหาและให้กำลังใจบรรดาเยาวชนหญิงแห่งเอเชียที่มีความสามารถโดดเด่น ผ่านการจัดตั้งรางวัลดังกล่าว พร้อมให้การฝึกอบรมแก่พวกเขาเหล่านั้นให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภารกิจด้านสิทธิมนุษยชน นวัตกรรมทางสังคม และสถานะเพศ เสริมสร้างความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็นในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นแบบอย่างให้กับบรรดาเด็กและเยาวชนหญิงรุ่นหลังต่อไป
-------------------------------------------
TECO วันที่ 3 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย ได้เป็นตัวแทนของมูลนิธิลี่ซิน (Garden of Hope Foundation, GOH) ของไต้หวันในการมอบ “รางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียครั้งที่ 8 ด้านสิทธิมนุษยชน” (The 8 th Asia Girl Awards) ให้กับนางสาวศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงชาวไทย พร้อมนี้ยังได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นยุวทูตหญิงแห่งเอเชีย (Asian Girl Ambassador) ประจำปี 2020 เพื่อเป็นแบบอย่างด้านการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเยาวชนในเอเชีย

 

นายหลี่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า “รางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชีย” เป็นรางวัลที่มูลนิธิลี่ซินได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เพื่อค้นหาและส่งเสริมให้เยาวชนหญิงในเอเชียมีความกล้าหาญที่จะแสดงความคิดเห็น รวมทั้งร่วมอุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์ อันถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นและการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยในปีนี้ถือเป็นปีที่ 8 ที่มีการมอบรางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียแล้ว ได้รับความสนใจจากนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมากมาโดยตลอด โดยในปี 2019 มีผู้สมัครจากทั้งเวียดนาม มองโกเลีย เนปาล ทาจิกิสถาน และซีเรีย เป็นต้น

 

ในปีนี้ น.ส. ศิริวรรณ พรอินทร์ เป็นผู้คว้า “รางวัลเยาวชนหญิงแห่งเอเชียด้านสิทธิมนุษยชน” มาครองได้สำเร็จ โดยคุณศิริวรรณฯ เติบโตขึ้นในครอบครัวที่ด้อยโอกาส และได้อุทิศตนในการเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร (NPO) มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมุ่งมั่นในการร่วมปกป้องสิทธิของเยาวชนที่เติบโตมาในครอบครัว LGBT ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งริเริ่มจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อปกป้องเด็กที่มาจากชุมชนของผู้ด้อยโอกาสทางสังคมจากถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับกระแสตอบรับและความสนใจจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทางไต้หวันจึงให้การยอมรับต่อคุณศิริวรรณฯ ที่กล้าพิสูจน์ตนเอง ในการก้าวเดินไปสู่เส้นทางที่ตนใฝ่ฝัน พร้อมหวังว่าคุณศิริวรรณฯ จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่อไป

 

นายหลี่ฯ ขี้ว่า หลายปีมานี้ ประเทศไทยได้ผลักดันการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนทางสถานะเพศอย่างเต็มที่ โดยในปีนี้ รัฐบาลไทยได้ผ่านญัตติว่าด้วยการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันและไทยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น โดยนายหลี่ฯ หวังว่า ไต้หวัน – ไทย ซึ่งเป็นสังคมที่เป็นพลังแห่งความดีงาม จะร่วมเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สตรี และสิทธิเยาวชน เป็นต้น

 

ศิริวรรณกล่าวตอบรับว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจจากคุณแม่ทั้ง 2 มูลนิธิลี่ซิน รวมทั้งผู้แทนหลี่ฯ ซึ่งในอนาคต ตนจะนำเอาเงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) มาใช้ในการพัฒนาแอพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ สำหรับให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนในการเพิ่มความเข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ของตนเองมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้สาธารณชนมีความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมและความต้องการของพวกเขามากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ นางจี้ฮุ้ยหรง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิลี่ซินได้กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ผ่านวีดิทัศน์ที่บันทึกจากไต้หวันว่า ในปีนี้มีผู้สมัครกว่า 500 คนจาก 10 ประเทศ ก่อนจะมีการคัดเลือกให้เหลือเพียง 20 คนเท่านั้นที่จะได้รับรางวัล จึงถือเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ นางจี้ฯ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนในสภาตรวจสอบ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า มูลนิธิลี่ซินคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะค้นหาและให้กำลังใจบรรดาเยาวชนหญิงแห่งเอเชียที่มีความสามารถโดดเด่น ผ่านการจัดตั้งรางวัลดังกล่าว พร้อมให้การฝึกอบรมแก่พวกเขาเหล่านั้นให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภารกิจด้านสิทธิมนุษยชน นวัตกรรมทางสังคม และสถานะเพศ เสริมสร้างความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็นในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นแบบอย่างให้กับบรรดาเด็กและเยาวชนหญิงรุ่นหลังต่อไป