สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ Mr. Andrew Bremberg เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เผยแพร่วิดีทัศน์ที่มีความยาว 3 นาทีเพื่อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2016 ด้วยการเชิญไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์อีกครั้ง
♦ “รูปแบบไต้หวัน” ได้ประสบความสำเร็จในการปกป้องความปลอดภัยด้านสุขภาพให้กับประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคน การเชิญไต้หวันเข้าร่วมใน WHO จะทำให้นานาประเทศทั่วโลกได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน
♦ ก่อนการประชุม WHA ในวันที่ 2 ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้แสดงการสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ผ่านวิธีการต่างๆ อาทิเช่น ในวันที่ 6 พ.ย. คณะผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ลงบนเว็บไซต์ทางการ รวมถึงโพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ พร้อมทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ได้เผยแพร่วิดีทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่าคณะผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ร่วมเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 11 พ.ย. 63
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่การอภิปรายแบบ 2 ต่อ 2 ที่เหล่าประเทศพันธมิตรได้ยื่นต่อคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) เพื่อสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA เสร็จสิ้นลง Mr. Andrew Bremberg เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เผยแพร่วิดีทัศน์ที่มีความยาว 3 นาทีเพื่อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2016 ด้วยการเชิญไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์อีกครั้ง
โดยในช่วงแรก ออท. Bremberg กล่าวว่า ไต้หวันเป็นแบบอย่างที่ดีแห่งประชาธิปไตย ที่ได้บริจาคเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับประเทศที่มีความต้องการอย่างไม่เห็นแก่ตัว ถือเป็นอีกหนึ่งในพลังแห่งความดีของโลก โดยสหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน WHO มาเป็นเวลายาวนาน และในปีนี้ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) “รูปแบบไต้หวัน” ได้ประสบความสำเร็จในการปกป้องความปลอดภัยด้านสุขภาพให้กับประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคน การเชิญไต้หวันเข้าร่วมใน WHO จะทำให้นานาประเทศทั่วโลกได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ซึ่ง WHA ก็เคยเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุม ในช่วงระหว่างปี 2009 ถึงปี 2016 มาโดยตลอด แต่เนื่องด้วยการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิไตย กลับส่งผลให้ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบสาธารณสุขของโลก ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้
นอกจากนี้ ออท. Bremberg เน้นย้ำว่า ในปัจจุบันนี้ มีประเทศสมาชิกของ WHO ที่สนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ควรเชิญไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญของไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในคณะทำงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ของ WHO (COVID-19 pandemic response) อย่างไร้อุปสรรค ซึ่งรวมถึงกลไกและการประชุมด้านเทคนิคทางการแพทย์ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม WHA ในวันที่ 2 ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้แสดงการสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ผ่านวิธีการต่างๆ อาทิเช่น ในวันที่ 6 พ.ย. คณะผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ลงบนเว็บไซต์ทางการ รวมถึงโพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ พร้อมทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ได้เผยแพร่วิดีทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่าคณะผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ร่วมเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ ในระหว่างที่ประเทศพันธมิตรของไต้หวันร่วมอภิปรายในแผนผลักดันให้ไต้หวันได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม WHA อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของสหรัฐฯ ที่จะให้การสนับสนุนให้ไต้หวันได้เข้าร่วม WHA ทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนไต้หวันต่างได้รับกำลังใจอย่างเปี่ยมล้น พร้อมขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรด้วยใจจริง กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA อย่างเต็มที่ พวกเราจะมุ่งมั่นพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ในการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคนต่อไป ตลอดจนร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างคุณูปการในการฟื้นฟูและป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ต่อไป