ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้มาตรการแบบล่วงหน้า ในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
2020-11-16
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 15 พ.ย. NDC แถลงว่า แม้ว่าไต้หวันจะไม่ได้เข้าร่วมในความตกลง RCEP แต่ได้จัดเตรียมแนวทางการรับมือแบบล่วงหน้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านภาษีศุลกากร ในภาพคือตัวแทนผู้นำประเทศสมาชิก RCEP ต่างร่วมโบกมือแสดงการทักทายกับสื่อมวลชนภายในการประชุม หลังเสร็จสิ้นการร่วมลงนามฯ (ภาพจาก CNA)
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. NDC แถลงว่า แม้ว่าไต้หวันจะไม่ได้เข้าร่วมในความตกลง RCEP แต่ได้จัดเตรียมแนวทางการรับมือแบบล่วงหน้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านภาษีศุลกากร ในภาพคือตัวแทนผู้นำประเทศสมาชิก RCEP ต่างร่วมโบกมือแสดงการทักทายกับสื่อมวลชนภายในการประชุม หลังเสร็จสิ้นการร่วมลงนามฯ (ภาพจาก CNA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ไต้หวันได้ประยุกต์ใช้มาตรการแบบล่วงหน้าเพื่อรับมือกับแนวโน้มรูปแบบใหม่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อว่าจะสามารถรับมือกับผลกระทบด้านภาษีศุลกากรที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังการลงนามความตกลง RCEP

♦ สินค้าสำคัญที่ไต้หวันส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP กว่าร้อยละ 60 เป็นสินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย วงจรรวม อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามความตกลง ITA และ ITA2 ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

♦ สินค้าสำคัญของไต้หวันที่ส่งออกสู่ประเทศสมาชิก RCEP ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีศุลกากร ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป
-------------------------------------------
NDC วันที่ 15 พ.ย. 63

 

หลังผ่านพ้นการเจรจาหารือมาเป็นเวลานานกว่า 8 ปี เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ประเทศสมาชิกรวม 15 ประเทศของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership, RCEP) ได้ร่วมจัดการประชุมสุดยอดผู้นำผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมร่วมลงนามความตกลง RCEP อย่างเป็นทางการ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เนื่องด้วยตลอดช่วงที่ผ่านมา ประเทศอาเซียนได้ทยอยร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคี ภายใต้กรอบความร่วมมือ “อาเซียนบวกหนึ่ง” กับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ประกอบกับความตกลง FTA ระหว่างจีน – เกาหลีใต้ได้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จึงทำให้เห็นได้ว่า บรรดาประเทศข้างต้นมีข้อได้เปรียบด้านภาษีศุลกากรในตลาดอาเซียนและตลาดจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มิใช่ผลพลอยได้หลังจากที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ เพื่อรับมือกับผลกระทบนานาประการที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันได้วางแผนยุทธศาสตร์การลงทุนและดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบล่วงหน้าไว้เนิ่นๆ แล้ว ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากสถานการณ์การส่งออกของไต้หวันที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอดช่วงหลายปีมานี้ แม้ว่าปัจจุบันนี้ ความตกลง RCEP จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างแล้ว และอาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดฝันต่อไต้หวันในภายภาคหน้า แต่พวกเรามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น

 

NDC ระบุว่า เนื่องจากขั้นตอนการเจรจาความตกลง RCEP กินระยะเวลาค่อนข้างนาน ในระหว่างนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันได้ประยุกต์ใช้มาตรการแบบล่วงหน้าในการรับมือด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์การลงทุน และการปรับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมให้ก้าวเข้าสู่ประเทศอาเซียน เพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับปัญหาการเก็บภาษีศุลกากรในการที่จะรุกตลาดเข้าสู่ตลาดอาเซียน อนึ่ง สินค้าสำคัญที่ไต้หวันส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP กว่าร้อยละ 60 เป็นสินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย วงจรรวม อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement, ITA) และการขยายตัวของข้อตกลงเทคโนโลยีสารสนเทศรอบที่ 2 (ITA2) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องล้วนแต่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีศุลกากร ประกอบกับประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP บางส่วนได้ประยุกต์ใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศตน หากมองในภาพรวมแล้ว สินค้าสำคัญของไต้หวันที่ส่งออกสู่ประเทศสมาชิก RCEP ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีศุลกากร ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป

 

NDC เน้นย้ำว่า สืบเนื่องจากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ และสงครามเทคโนโลยี ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในปีนี้ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง นานาประเทศทั่วโลกต่างเร่งวางแนวทางการรับมือภายใต้เครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความร่วมมือในด้านที่เกี่ยวข้อง อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต ที่ความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานและปัจจัยสำคัญในความสามารถด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิทัล จะมีความสำคัญแซงหน้าภาษีศุลกากร โดยไต้หวันได้ประยุกต์ใช้มาตรการแบบล่วงหน้าเพื่อรับมือกับแนวโน้มรูปแบบใหม่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อว่าจะสามารถรับมือกับผลกระทบด้านภาษีศุลกากรที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังการลงนามความตกลง RCEP

 

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันเข้าใจดีว่าความตกลงทางการค้าและการบูรณาการระดับภูมิภาค นอกจากจะครอบคลุมในประเด็นภาษีศุลกากรแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ รวมอยู่ด้วย โดยพวกเราจะเตรียมความพร้อมในการร่วมเจรจาลงนามความตกลงทางการค้าและเข้าร่วมกลไกว่าด้วยการบูรณาการระดับภูมิภาคกับนานาประเทศทั่วโลกต่อไปในอนาคต