ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
งานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก ประจำปี 2020
2020-11-23
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ดร.จางจงโหมว (กลาง) ตัวแทนของผู้นำไต้หวัน ชี้แจงถึงเนื้อหาสาระสำคัญในแถลงการณ์ของตนที่ได้ทำการเผยแพร่ในการประชุม AELM ภายในงานแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ดร.จางจงโหมว (กลาง) ตัวแทนของผู้นำไต้หวัน ชี้แจงถึงเนื้อหาสาระสำคัญในแถลงการณ์ของตนที่ได้ทำการเผยแพร่ในการประชุม AELM ภายในงานแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก เพื่อร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถามจากผู้สื่อข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของสถานการณ์การประชุมเอเปค ผลสัมฤทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค และผลสัมฤทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุม AELM

♦ ในด้านเศรษฐกิจ ทางรัฐบาล Chinese Taipei ได้เร่งผลักดันมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที จึงทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ยังคงเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าภายในปี 2020 จะมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1.5 

♦ ในยุคหลังโควิด – 19 เชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำงาน การใช้ชีวิต และการแพทย์ของไต้หวันมากยิ่งขึ้น
-------------------------------------------
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 21 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ประจำปี โดยมีดร. จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ตัวแทนของผู้นำไต้หวันที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคอีกครั้งในปีนี้ พร้อมด้วยนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถามจากผู้สื่อข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของสถานการณ์การประชุมเอเปค ผลสัมฤทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค และผลสัมฤทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุม AELM

 

ดร.จางฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุม AELM ในครั้งนี้มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมรวม 21 ประเทศ โดยแถลงการณ์ของดร.จางฯ ได้อ้างอิงจากคำชี้แนะของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในการเผยแพร่ให้ประเทศสมาชิกเอเปค ได้รับทราบถึงแนวทางในการสกัดกั้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ของไต้หวัน รวมถึงสถานะของไต้หวันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ทั้งนี้ ดร.จางฯ ยังได้ร่วมชี้แจงถึงเนื้อหาสาระสำคัญในแถลงการณ์ที่ท่านได้ทำการเผยแพร่ในการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค โดยระบุว่า พวกเราโชคดีเป็นอย่างมากที่สามารถสกัดกั้นโรคโควิด – 19 ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอาณาเขตของ Chinese Taipei ที่มีประชากรรวมกว่า 23.5 ล้านคน นับจนถึงวันที่  20 พ.ย. ที่ผ่านมา Chinese Taipei มียอดผู้ป่วยยืนยืนในประเทศรวมทั้งสิ้น 611 ราย เสียชีวิตรวม 7 คน ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ทางรัฐบาล Chinese Taipei ได้เร่งผลักดันมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที จึงทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ยังคงเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าภายในปี 2020 จะมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1.5 

 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการรับมือกับโรคโควิด – 19 อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากประชาชนโดยส่วนมากของ Chinese Taipei ล้วนแต่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง จึงเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไต้หวัน สะดวกต่อการติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับเชื้อโควิด – 19 ผ่านระบบ GPS ที่ติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งนำเข้าสู่การดำเนินมาตรการกักตัวโดยเร็ว นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยให้แผนการจัดสรรหน้ากากอนามัยภายในประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการเดินทางเข้าสู่ Chinese Taipei ของชาวต่างชาติยังคงมีข้อจำกัดอย่างเข้มงวด แต่สาธารณชนภายในประเทศสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ พวกเราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางท่องเที่ยวในไต้หวันของชาวต่างชาติจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์โรคโควิด – 19 ได้ในเร็ววัน อีกทั้งในยุคหลังโควิด – 19 เชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำงาน การใช้ชีวิต และการแพทย์ของไต้หวันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี AI เป็นเพียงหนึ่งในกิ่งก้านสาขาของเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น โดยนอกจากจะสามารถยกระดับประสิทธิภาพในการรักษาทางการแพทย์ของเหล่าบรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แล้ว ยังสามารถยกระดับประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพได้อีกด้วย

 

ภายใต้บริบทแห่งยุคดิจิทัลหลังโควิด – 19 Chinese Taipei ยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของพวกเราให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก ตลอดจนคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเอเปค ในการเสริมสร้างอนาคตที่เปี่ยมด้วยความโชติช่วงชัชวาลและความเจริญรุ่งเรืองสืบๆ ไป