ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เหล่านักเขียนการ์ตูนชื่อดังของไต้หวันและไทย ร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงาน ในกิจกรรม “โครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน – ไทย” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร
2020-11-30
New Southbound Policy。นายหลี่อิ้งหยวน (แถวหน้ากลาง) และแขกผู้มีเกียรติที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม “โครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน - ไทย” ต่างถ่ายภาพร่วมกัน (ภาพจาก TECO)
นายหลี่อิ้งหยวน (แถวหน้ากลาง) และแขกผู้มีเกียรติที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม “โครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน - ไทย” ต่างถ่ายภาพร่วมกัน (ภาพจาก TECO)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.  สนง.ตัวแทนไต้หวันในไทยจัดกิจกรรม “โครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน - ไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร โดยได้เชิญนักเขียนการ์ตูนไทยและไต้หวันชื่อดัง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนผ่านรูปแบบออนไลน์ระหว่างกัน

♦ กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการ์ตูนเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะให้การสนับสนุนแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนแล้ว ยังได้จัดตั้งฐานจัดแสดงการ์ตูน (Taiwan Comic Base) พร้อมทั้งวางแผนที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนแห่งชาติไต้หวันอีกด้วย

♦ กิจกรรม ttcomics ในครั้งนี้ได้ทำลายกรอบจำกัดแบบดั้งเดิม เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในรูปแบบข้ามประเทศ ข้ามวัฒนธรรม และข้ามแพลทฟอร์ม โดยได้ติดต่อให้นักเขียนการ์ตูนทั้งไต้หวันและไทยร่วมสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยประยุกต์ใช้วัฒนธรรมของสองประเทศเป็นองค์ประกอบหลัก ในการชักนำตัวละครแต่ละบทบาทเข้าสำรวจบ้านเกิดในดินแดนต่างถิ่น
-------------------------------------------
TECO วันที่ 26 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) ได้จัดกิจกรรม “โครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน - ไทย” (Taiwan-Thailand Comics Exchange : ttcomics) ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ร้านหนังสือยอดนิยม Open House ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้ติดต่อเชิญคุณมุนินทร์ สายประสาท และคุณอาร์ต จีโน ซึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยชื่อดัง เดินทางมาเข้าร่วมในงาน เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนผ่านรูปแบบออนไลน์กับนายหร่วนกวงหมิน (Ruan Guang - Min) และนายองอวี๋หง (HOM) นักเขียนการ์ตูนไต้หวันชื่อดังที่เคยคว้ารางวัล Golden Comic Awards & Connection มาครองได้อย่างสำเร็จ นอกจากนี้ นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย ก็ได้เดินทางมาเข้าร่วมเพื่อให้การสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน – ไทย อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยในพื้นที่และแขกผู้มีเกียรติระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย นายนิวัฒน์ ธาราพรรค์ นายกสมาคมการ์ตูนไทย (TCA) นายศักดา แซ่เอียว อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย Mr.Sylvain Bano ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ Mr.Nicolas Verstappen นักวิจัยอาคันตุกะแห่งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และที่ปรึกษาด้านการจัดนิทรรศการการ์ตูนเอเชีย ตัวแทนเจ้าหน้าที่ของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ตัวแทนเจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) นักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงบรรดานักเขียนการ์ตูน แฟนคลับการ์ตูน และเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์การ์ตูน ต่างเดินทางมาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในช่วงถาม - ตอบ บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก

 

กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ไต้หวัน – ไทยได้ร่วมจัดโครงการแลกเปลี่ยนขึ้นภายใต้หัวข้อการ์ตูน โดยนายหลี่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า “กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการ์ตูนเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะให้การสนับสนุนแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนแล้ว ยังได้จัดตั้งฐานจัดแสดงการ์ตูน (Taiwan Comic Base) พร้อมทั้งวางแผนที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนแห่งชาติไต้หวันอีกด้วย โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากการประสานความร่วมมือกับไทยในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายความร่วมมือกับนานาประเทศต่อไป โดยในอนาคต คาดหวังที่จะประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน ไทย ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนผลงานการ์ตูน” หลังเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยของนายหลี่ฯ เหล่านักเขียนการ์ตูนชื่อดังของไต้หวันและไทยได้มอบผลงานภาพวาดลายเส้นการ์ตูนเพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้แทนหลี่ฯ ซึ่งสร้างความประทับใจและความตื่นตาตื่นใจให้กับนายหลี่ฯ และบรรดาผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก

 

ซอฟต์พาวเวอร์ของไต้หวันมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ ส่วนไทยก็มีความเฟื่องฟูในด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปวัฒนธรรม ในจำนวนนี้ อุตสาหกรรมการ์ตูนถือเป็นหนึ่งในสื่อกลางที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน และจากการที่รูปแบบการอ่านได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สำนักพิมพ์การ์ตูนจำเป็นต้องก้าวข้ามสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบกระดาษไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ โดยกิจกรรม ttcomics ในครั้งนี้ได้ทำลายกรอบจำกัดแบบดั้งเดิม เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในรูปแบบข้ามประเทศ ข้ามวัฒนธรรม และข้ามแพลทฟอร์ม โดยได้ติดต่อให้นักเขียนการ์ตูนทั้งไต้หวันและไทยร่วมสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยประยุกต์ใช้วัฒนธรรมของสองประเทศเป็นองค์ประกอบหลัก ในการชักนำตัวละครแต่ละบทบาทเข้าสำรวจบ้านเกิดในดินแดนต่างถิ่น ทั้งนี้ เพื่อสรรค์สร้างผลงานการ์ตูนแบบข้ามวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่

 

กิจกรรมการแลกเปลี่ยน ttcomics ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่แวดวงอุตสาหกรรมการ์ตูนเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างไต้หวัน – ไทยอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดวางรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการ์ตูนแบบทวิภาคี โดยได้เชิญให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแวดวงการ์ตูนเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ทำลายกรอบจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเปิดแนวทางและโอกาสความร่วมมือที่หลากหลายระหว่างไต้หวัน – ไทยต่อไป ตลอดจนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะดึงดูดให้มิตรสหายที่มีความสนใจและชื่นชอบการ์ตูน ร่วมติดตามการพัฒนาไปในแต่ละขั้นของอุตสาหกรรมการ์ตูนแบบทวิภาคีต่อไป