สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือของสถานประกอบการไต้หวันในประเทศไทยกับการพัฒนาการศึกษาระบบทวิภาคี” ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย – ไต้หวัน (บีดีไอ)
♦ ในอนาคต อุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าจะก้าวเข้าสู่โครงการสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตที่มุ่งเน้นไปที่นวัตกรรม ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
♦ นายหลี่ฯ กล่าวว่า รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะกลายเป็นแนวโน้มอุตสาหกรรมหลักในอนาคตอย่างแน่นอน และจะสามารถสร้างคุณูปการให้กับพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครในด้านการปรับปรุงคุณภาพอากาศ
-------------------------------------------
TECO วันที่ 30 พ.ย. 63
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือของสถานประกอบการไต้หวันในประเทศไทยกับการพัฒนาการศึกษาระบบทวิภาคี” ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย – ไต้หวัน (บีดีไอ) หรือที่เรียกโดยย่อว่า “T-TECH” โดยจ่าสิบเอก ดร.สมพร ชูทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน” (MOU) ระหว่าง T- TECH สมาคมการค้าและเศรษฐกิจของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล สมาคมนักธุรกิจไต้หวันในจังหวัดชลบุรี สมาคมนักธุรกิจชาวไต้หวันเขตธนบุรี และบริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด (Jinpao Precision Industry)
ในระหว่างการประชุม T-TECH ได้นำเสนอรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าที่ร่วมวิจัยและพัฒนาโดยT-TECH และภาคเอกชนต่อผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย โดยในอนาคต อุตสาหกรรมประเภทนี้จะก้าวเข้าสู่โครงการสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตที่มุ่งเน้นไปที่นวัตกรรม ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
นายหลี่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า T-TECH เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทของผู้ประกอบการชาวไต้หวัน ซึ่งก็คือบริษัท กรุงเทพ ไดอ์แคสซ์ติ้ง แอนด์ อินแจ๊กชั่น จำกัด (Bangkok Diecasting and Injection Co.,Ltd, BDI Group) และถือเป็นต้นแบบที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนของไต้หวัน – ไทย นายหลี่ฯ เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของนายจางหมิงฟง ประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท BDI และดร. บรินดา จางขจรศักดิ์ หรือดร.จางหลิงฉิน อธิการบดี T-TECH สถาบันแห่งนี้จะสามารถพัฒนาเป็น “สถาบันเทคโนโลยีไทย – ไต้หวัน” (Thai-Taiwan Institute of Technology) ได้ในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน
นายหลี่ฯ ได้ให้การยกย่องชื่นชมรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าที่ทาง T-TECHได้นำออกมาจัดแสดง โดยกล่าวอ้างอิงถึงประสบการณ์ในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะกลายเป็นแนวโน้มอุตสาหกรรมหลักในอนาคตอย่างแน่นอน และจะสามารถสร้างคุณูปการให้กับพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครในด้านการปรับปรุงคุณภาพอากาศ โดย T-TECH จะทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรในด้านการผลิตรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าต่อไป
วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย – ไต้หวัน (บีดีไอ) เป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท BDI Group ซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นสถาบันการอาชีวศึกษาแบบครบวงจรจากรัฐบาลไทย และเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาเพียงแห่งเดียวที่ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทเอกชนของไต้หวัน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานความร่วมมือด้านการฝึกอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกับ 18 บริษัท ขณะเดียวกัน T-TECH ยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในไต้หวันในโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาไต้หวันเดินทางมาฝึกงานในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนในบริษัทที่ไทย ตราบจนปัจจุบัน มีนักศึกษาจำนวน 31 คนที่ผ่านการฝึกงานจากบริษัท BDI ซึ่งผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของเหล่านักศึกษา ต่างได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ประกอบการอย่างไม่ขาดสาย