ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมไตรภาคีว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ประจำปี 2020 เปิดฉากขึ้นแล้วที่ไต้หวัน
2020-12-09
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมไตรภาคีว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น พร้อมกล่าวปราศรัยในพิธีครั้งนี้ (ภาพจาก MOFA)
ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมไตรภาคีว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น พร้อมกล่าวปราศรัยในพิธีครั้งนี้ (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ปธน.ไช่ฯ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เน้นย้ำว่า หากพวกเราไม่ปกป้องประชาธิปไตย ก็เท่ากับว่าเรายอมจำนนต่อการข่มขู่ของอำนาจเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างรุนแรงที่เกิดจากภัยคุกคามทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ ไต้หวันเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการยื่นมือให้ความช่วยเหลือ

♦ Mr. Menendez ประธานวุฒิสภาพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงคำมั่นที่สหรัฐฯ ได้ให้ไว้ต่อไต้หวันโดยไม่มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย อาทิ คำมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัย การให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการขยายพื้นที่ในเวทีนานาชาติ รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศพันธมิตร

♦ การประชุมในปีนี้ได้เชิญอดีตเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับอาวุโสและนักวิชาการสำคัญของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เข้าร่วมอภิปรายหารือในกันประเด็นและแง่มุมสำคัญต่างๆ ดังนี้
(1) ผลกระทบจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและความมั่นคงปลอดภัยของช่องแคบไต้หวัน
2) การจัดตั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่มีความน่าเชื่อถือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ภายใต้บริบทแห่งสถานการณ์โควิด – 19 และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในภูมิภาค
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 8 ธ.ค. 63

 

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) ได้มอบหมายให้ “มูลนิธิ The Prospect Foundation”,“Project 2049 Institute” และ “สถาบันวิจัยประเด็นระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น” (Japan Institute of International Affairs, JIIA) ซึ่งเป็นคลังสมองของไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นตามลำดับ ประสานความร่วมมือในการจัดการประชุมไตรภาคีว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ประจำปี 2020 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและโอกาสของสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก หลังปี 2020” ในวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

ในการประชุมครั้งนี้ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเข้าร่วมด้วยตนเอง พร้อมกล่าวปราศรัยโดยระบุว่า สืบเนื่องจากในปีนี้ทั่วโลกเกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ขึ้นมากมาย ประกอบด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการแสวงหาแนวทางการรับมือกับภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคในอนาคตของไต้หวัน ประกอบกับการที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงจำนวน 3 คนถูกจับกุมตัวนั้น ถือเป็นสัญญาณแจ้งเตือนภัยอันตรายอย่างรุนแรง ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า หากพวกเราไม่ปกป้องประชาธิปไตย ก็เท่ากับว่าเรายอมจำนนต่อการข่มขู่ของอำนาจเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างรุนแรงที่เกิดจากภัยคุกคามทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ ไต้หวันเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ยกตัวอย่างในกรณีกรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF อย่างเป็นทางการ ประกอบกับสวีเดน ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ก็ได้เข้ามีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวในประเด็นพิเศษด้วยเช่นกัน ในอนาคต กรอบความร่วมมือ GCTF จะมีบทบาทเป็นแกนกลางสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งเชื่อว่าจะบังเกิดประสิทธิภาพในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต ผ่านการสำแดงความเชี่ยวชาญและการส่งผลกระทบในวงกว้างต่อไป

 

นอกจากนี้ Mr. Kurt Campbell ประธานคณะกรรมการบริหาร The Asia Group ที่ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ในสมัยรัฐบาลโอบามา ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดย Mr. Campbell ชี้ว่า นโยบายกิจการเอเชีย – แปซิฟิกของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นหลัก โดยในอนาคต รัฐบาลไบเดนจำเป็นต้องสร้างหลักประกันในการรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (QUAD) ให้เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและเกิดความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสหรัฐฯ ยังต้องฟื้นฟูการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในองค์การระหว่างประเทศ เพื่อสำแดงศักยภาพของการเป็นประเทศมหาอำนาจต่อไป นอกจากนี้ Mr. Campbell ยังได้กล่าวแสดงความคาดหวังที่ต้องการจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันคลายความตึงเครียดลง พร้อมฟื้นฟูการเจรจาระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ได้อยู่ในขอบเขตความสามารถของสหรัฐฯ ประกอบกับรัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้ชี้ชะตาปัญหานี้ เป้าหมายของสหรัฐฯ คือการบรรลุคำมั่นที่ให้ไว้กับไต้หวัน ซึ่งครอบคลุมถึงประชาธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี แวดวงทางการเมืองของสหรัฐฯ ตระหนักดีถึงการธำรงรักษาผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน สำหรับผลสัมฤทธิ์ด้านนโยบายกิจการเอเชีย – แปซิฟิกที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลทรัมป์ Mr. Campbell ก็คาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลไบเดนสืบสานให้คงอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน

 

Mr. Robert Menendez (D-NJ) ประธานวุฒิสภาพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมแสดงปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารกลางวันผ่านการบันทึกคลิปวิดีโอล่วงหน้า โดยกล่าวว่า การเสริมสร้างให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้างและเปี่ยมด้วยเสรีภาพมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกของสหรัฐฯ ต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างไต้หวันและญี่ปุ่น นอกจากนี้ Mr. Menendez ยังได้เน้นย้ำถึงคำมั่นที่สหรัฐฯ ได้ให้ไว้ต่อไต้หวันโดยไม่มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย อาทิ คำมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัย การให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการขยายพื้นที่ในเวทีนานาชาติ รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศพันธมิตร

 

โดยการประชุมในปีนี้ได้จัดขึ้นต่อเนื่องจากการประชุมเจรจาแบบดั้งเดิมระหว่างสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยได้เชิญ Mr. Ami Bera (D-CA) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ Mr. Keisuke Suzuki สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น นายหลัวจื้อเจิ้ง นายเฉินอี่ซิ่น และนายหลินฉ่างจั่ว สมาชิกสภานิติบัญญัติของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในรอบการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาของทั้งสามประเทศ

 

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในปี 2020 การประชุมในปีนี้ได้เชิญอดีตเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับอาวุโสและนักวิชาการสำคัญของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เข้าร่วมอภิปรายหารือในกันประเด็นและแง่มุมสำคัญต่างๆ ดังนี้ (1) ผลกระทบจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและความมั่นคงปลอดภัยของช่องแคบไต้หวัน (2) การจัดตั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่มีความน่าเชื่อถือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ภายใต้บริบทแห่งสถานการณ์โควิด – 19 และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งบรรยากาศการประชุมในครั้งนี้เป็นไปอย่างคึกคักและบังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย