ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สัมผัสธรรมชาติท้องถิ่น “หลี่ซาน” พลิกโฉมเขิ่นติง
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-12-14

เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จับมือก่อตั้งบริษัทหลี่ซานนิเวศ และร้านเซินเซ่อ (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จับมือก่อตั้งบริษัทหลี่ซานนิเวศ และร้านเซินเซ่อ (ภาพ: หลินเก๋อลี่)
 

เมฆขาวฟ้าสีคราม แสงแดดที่แหลมเหิงชุนยังคงสาดส่องแผดเผา โปรแกรมทัวร์ที่หลบเลี่ยงแหล่งพลุกพล่าน คนรุ่นใหม่ซึ่งจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติผิงตง (National Pingtung University of Science and Technology : NPUST) และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทหลี่ซานนิเวศ (Lishan Eco Company) ประสานมือ 3 ชุมชนท้องถิ่น “หลี่เต๋อ” “เซ่อติ่ง” และ “หย่งจิ้ง” วางโปรแกรมทัวร์เชิงนิเวศ แถมด้วยเปิดร้านจำหน่าย “ของฝากจากท้องถิ่น” ที่มีชื่อว่า “เซินเซ่อ” พยายามพลิกโฉมภาพลักษณ์เขิ่นติง

 

คุณหลินจื้อหย่วน (林志遠) มาจากไทจง ส่วนคุณหลินฮุ่ยฉี (林惠琪) เป็นคนไทเป คุณหลี่อี๋ฮุ่ย (李怡慧) บ้านเกิดอยู่ที่เกาสง... ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลี่ซานนิเวศทั้ง 6-7 คน ไม่มีใครที่เป็นคนท้องถิ่นแม้แต่คนเดียว พวกเขามารวมตัวกันที่เหิงชุน ซึ่งอยู่ใต้สุดของไต้หวันเพียงเพราะท่านศาสตราจารย์เฉินเหม่ยฮุ่ย (陳美惠) แห่งคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติผิงตง เป็นผู้ระดมพลมาที่นี่

 

พัฒนาชุมชน สร้างอาชีพด้วยระบบนิเวศ

คุณหลินจื้อหย่วน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “บริษัทหลี่ซานนิเวศ” จบการศึกษาจากวิทยาลัยการเกษตรไทจงหลังจากสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติผิงตงแล้ว ได้ติดตาม ศ.เฉินเหม่ยฮุ่ย มาร่วมทำงานพัฒนาชุมชน มาที่เขิ่นติงในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา คุณหลินจื้อหย่วนมักจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนๆ ไปกลับเหิงชุนกับมหาวิทยาลัย ระยะทางนานถึง 2 ชม. เวลาผ่านไปนานเข้า คุณหลินจื้อหย่วนกับเพื่อน ๆ ก็สนิทสนมกับชาวบ้านในชุมชนเซ่อติ่งและหมู่บ้านใกล้เคียงเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

ความคิดที่จะประกอบอาชีพเป็นของตนเองของคุณหลินจื้อหย่วนเริ่มผุดขึ้นมาในสมองในช่วงก่อนจบปริญญาโท โดยปกตินักศึกษาที่จบจากคณะวนศาสตร์ ถ้าไม่ใช่เข้าไปทำงานในกรมป่าไม้ หรือสถานีทดลองป่าไม้ ก็จะทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แต่คุณหลินจื้อหย่วนชอบที่จะตระเวนไปตามชุมชนต่าง ๆ มากกว่าที่จะทำงานออฟฟิศ ประกอบกับศึกษาพบว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีศักยภาพสูงมาก คุณหลินจื้อหย่วนได้ปรึกษาหารือกับคุณเย่เจียเหลียง (葉珈良) เพื่อนร่วมรุ่นแล้ว จึงตัดสินใจตั้งบริษัทของตนเองขึ้น ความคิดของเขาได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์เฉินเหม่ยฮุ่ย จึงมอบตัวอักษรจีน 2 ตัว “หลี่ซาน” ที่มาจากแนวความคิดอุดมการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างยั่งยืนของญี่ปุ่นให้แก่คุณหลินจื้อหย่วน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทของเขา 

แต่อะไรคือ “หลี่ซาน” และอะไรคือ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” ไม่เหมือนบริษัทอื่นที่มีสินค้าเป็นตัวตนที่จับต้องหรืออธิบายได้ กว่าจะอธิบายถึงการบริการของบริษัทให้ผู้คนได้เข้าใจ คุณหลินจื้อหย่วนก็ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่ที่ยากที่สุดไม่ได้อยู่ที่การแนะนำตัวเองให้ลูกค้ารู้จัก การท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลี่ซาน ที่เต็มไปด้วยเงาแห่ง “การพัฒนาชุมชน” ไม่เหมือนบริษัททัวร์ทั่วไป ที่ขายแต่โปรแกรมทัวร์หรือพาลูกค้าเข้าไปในชุมชนเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน การฝึกอบรม และการวางแผนการท่องเที่ยว ล้วนมีหลี่ซานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

คุณหลินจื้อหย่วนกับสมาชิกของบริษัทจะแบ่งงานกันเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้านใน 8 ชุมชน เป็นประจำทุกสัปดาห์ และจะไปประชุมที่ชุมชนเป็นประจำด้วย “เมื่อชาวบ้านในท้องถิ่นไม่อยากเข้าร่วม สมาชิกของหลี่ซานก็จะกระโดดลงไปทำเอง เมื่อในชุมชนมีความเห็นไม่ลงรอยกัน พวกเราก็ต้องทำหน้าที่เป็นกาวประสานใจ ทำหน้าที่แก้ปัญหาที่มีอยู่” รับผิดชอบทุกเรื่อง ซึ่งมักทำให้คุณหลินจื้อหย่วนรู้สึกว่ากำลังคนไม่พอ แต่ไอเดียและโปรแกรมทัวร์พิเศษส่วนใหญ่ก็จะผุดออกมาด้วยเหตุนี้ “อย่างเช่นโปรแกรมทัวร์ “ไปส่งจดหมายกับเม่าป๋อ” ที่ชุมชนหย่งจิ้ง หรือ “ข้าวกล่องชาวประมง” ที่ชุมชนต้ากวง ก็มีส่วนผสมของอัตลักษณ์ความเป็นหมู่บ้านชาวประมง ล้วนเกิดขึ้นจากการพูดคุยกับชาวบ้านนั่นเอง” คุณหลี่อี๋ฮุ่ยเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจ
 

ร้าน “เซินเซ่อ” เป็นร้านเล็กๆ ที่รวมผลผลิตการเกษตร หัตถกรรม และหนังสือของชุมชนมาไว้ที่นี่ ให้ผู้คนได้มีโอกาสลิ้มรสอาหารท้องถิ่นของเหิงชุน (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

ร้าน “เซินเซ่อ” เป็นร้านเล็กๆ ที่รวมผลผลิตการเกษตร หัตถกรรม และหนังสือของชุมชนมาไว้ที่นี่ ให้ผู้คนได้มีโอกาสลิ้มรสอาหารท้องถิ่นของเหิงชุน (ภาพ: หลินเก๋อลี่)
 

ชื่อที่ไม่คุ้นเคย เรื่องราวในท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปิดแผนที่แหลมเหิงชุนฉบับ “หลี่ซาน” จะพบชื่อที่ผู้คนไม่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น “ต้ากวง” “หลี่เต๋อ” “เซ่อติ่ง” “สุ่ยวาคู” “หย่งจิ้ง” “หม่านโจว” ฯลฯ ... แต่ละชื่อฟังแล้วไม่คุ้นหูเลย แต่เชื่อมโยงเรื่องราวท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับชุมชนเข้าด้วยกัน

ไม้แกะสลักกลวงทรงสี่เหลี่ยมที่แกะสลักเป็นรูปปลาการ์ตูน นกอินทรี ปูบก นกเป็ดน้ำ ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่บนชั้นวางใน “เซินเซ่อ” มีการดัดแปลงรูปแบบออกไปตามการใช้งาน และยังมี “กล่องของขวัญ” ในรูปของโคมไฟประดับสะดุดตา เป็นการรวมเอาความพิเศษของการออกแบบของชุมชนมาไว้ที่นี่

ชุมชนหลี่เต๋อ มี “อินทรี” เป็นสัญลักษณ์ ตั้งอยู่บนแหลมเขิ่นติง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหลางเจี้ยวสือปาฟาน และเป็นชุมชนที่ยังคงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ในเดือนต.ค.ของทุกปีจะมีฝูงเหยี่ยวหน้าเทาจำนวนมากแวะผ่านมาที่นี่ ประกอบกับการที่ตั้งอยู่ต้นน้ำของลำธารหลั่นเหริน “หลี่ซาน” จึงปรึกษากับชุมชนหลี่เต๋อ ออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศชมเหยี่ยวหน้าเทาและลำธารหลั่นเหริน

ส่วนชุมชนต้ากวงที่เต็มไปด้วยบรรยากาศหมู่บ้านชาวประมง เนื่องจากบึงโฮ่วปี้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเป็นท่าเรือในอดีตของเหิงชุน เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ริมชายฝั่ง เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงต้ากวง นอกจากจะได้ชื่นชมสัตว์ทะเลล้ำค่าอย่างดาวทะเลสีน้ำเงินและดอกไม้ทะเลแล้ว ยังจะได้ลิ้มรสข้าวกล่องชาวประมงที่ประกอบไปด้วยถั่วลิสง หัวมัน สาหร่ายทะเล และปลาซาบะอีกด้วย

“สวนไทรไป๋หรงหยวน” ที่โด่งดังมาจากฉากสำคัญในภาพยนตร์รางวัลออสการ์เรื่อง “ชีวิตอัศจรรย์ของพาย (Life of Pi)” ตั้งอยู่ในชุมชนกั๋งโข่ว ด้านตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก และอยู่ติดกับลำธารกั๋งโข่วในอุทยานแห่งชาติเขิ่นติง ทำให้กลายเป็นแหล่งที่พักพิงของปูบกจำนวนมหาศาล ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงของการเยี่ยมชมที่นี่ในยามราตรี ก็จะได้พบเห็น “ปูหลินโถว” (Scandarma lintou) พันธุ์ปูที่มีแต่ในไต้หวันเท่านั้น ซึ่งเพิ่งพบในไต้หวันเมื่อปีค.ศ.1999 ปีนป่ายอยู่ตามต้นไม้ รวมไปจนถึงปู Sesarmops intermedium ปูเสฉวน และอึ่งน้ำเต้า (Microhyla fissipes) หลังจากที่สำนักบริหารอุทยานแห่งชาติเขิ่นติงได้พยายามเพาะพันธ์กวางซีกาพันธุ์พื้นเมืองไต้หวันมานานหลายปี ก็พบพวกมันได้ที่ชุมชนสุ่ยวาคูในบริเวณทุ่งหญ้าหลงผานด้วย

 

ดินที่เหิงชุนเหนียวหนึบหนับ

“เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงเขิ่นติง จะต้องไปเล่นน้ำทะเลที่หาดหนานวานให้ได้ และเดินช้อปตลาดเขินติ่ง แต่จะมีใครเคยได้ยินชื่อของชุมชนหลี่เต๋อบ้างหรือเปล่านะ ใครจะรู้บ้างว่าหลังจากที่สำนักบริหารอุทยานแห่งชาติเขิ่นติงได้เร่งอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงกวางซีกามานานหลายปี ตอนนี้เริ่มพบเห็นกวางซีกาแล้วนะ” คุณหลี่อี๋ฮุ่ย เจ้าของร้าน “เซินเซ่อ” กล่าว และสิ่งที่หลี่ซานต้องทำก็คือการค้นหาอะไรบางอย่างที่เขิ่นติง 

ปัจจุบัน มีชุมชน 8 แห่งและชาวบ้านสิบกว่ารายร่วมมือกับหลี่ซาน นอกจากจะมีผู้อาวุโสวัย 70-80 ปีแล้ว ยังเริ่มมีคนรุ่นใหม่ของชนเผ่าต่างๆ ที่จากบ้านเกิดไปหางานต่างถิ่น เนื่องจากไม่มีโอกาสงาน ก็เริ่มกลับบ้านเกิดเพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตนด้วย

ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำของหลี่ซาน รายได้ของชุมชนต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณหลินจื้อหย่วน บอกว่า ตอนเริ่มแรกของการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 6-7 แสนเหรียญไต้หวันเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ชุมชนเซ่อติ่งซึ่งเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เริ่มแรกและการบริหารงานต่างๆ ก็สุกงอมมากที่สุด ทำให้มีรายได้กว่า 3 ล้านเหรียญไต้หวัน ส่วนชุมชนต้ากวงที่เข้าร่วมค่อนข้างช้าก็มีรายได้ประมาณ 4-5 แสนเหรียญไต้หวัน แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขิ่นติงในแต่ละปีจะมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบัน “หลี่ซาน” มีลูกค้าเพียง 30,000 คนเศษเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% แต่คุณหลินจื้อหย่วนเห็นว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

บนหนทางแห่งการประกอบธุรกิจของตนเอง ย่อมต้องมีช่วงตกต่ำ บางครั้งต้องเผชิญหน้ากับความเห็นที่แตกต่างกันของหุ้นส่วนในชุมชน ทำให้การทำงานไม่ราบรื่นนัก คุณหลินจื้อหย่วนกับเพื่อนร่วมงานหลายคนก็เคยเหนื่อยจนคิดที่จะล้มเลิกความตั้งใจ แม้ปากจะบ่นว่าเหนื่อย แต่ก็ไม่อาจจากแผ่นดินนี้ไปได้ เขาพูดติดตลกว่า “มีบางคนบอกว่า “พื้นดินที่เขิ่นติงเหนียวหนึบหนับ” ตนจึงรู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็นชาวบ้านสมาชิกชุมชนกับเพื่อนร่วมงานที่หลี่ซานกำลังมุมานะพยายามในเป้าหมายเดียวกัน คุณหลินจื้อหย่วนมาเหิงชุนครั้งแรกกับครั้งนี้ ห่างกันนับสิบปี แม้หนทางการประกอบธุรกิจของตนเองยังคงอยู่ในช่วงของการคลำหาวิธีการที่ถูกต้อง คุณหลินจื้อหย่วนกับเพื่อนร่วมงานก็จะยังคงอยู่ติดกับผืนแผ่นดินทางใต้สุดแดนไต้หวันแห่งนี้ เพื่อแสวงหาความน่าตื่นตาตื่นใจของเหิงชุนต่อไป