อาคารยิมเนเซียมเก่าของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันที่ตัวอาคารเป็นรูปทรงคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมแคบยาว จัดเป็นสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ นอกจากใช้อิฐบล็อกช่องลมลายดอกไม้มาตกแต่งผนังแล้ว ยังใช้อิฐกลวงจำนวนมากมาทำเป็นวัสดุในการก่อสร้าง
สถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ยิ่งเก่าแก่ยิ่งมีมูลค่า จริงหรือ ? คำตอบคือ อาจไม่จริงเสมอไป
นอกจากศาลเจ้า วัดวาอาราม สวนดอกไม้ หรืออาคารหน่วยงานราชการ และหอพักข้าราชการที่สร้างด้วยไม้ในยุคญี่ปุ่นยึดครองไต้หวันแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่ายังมีสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่ง ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แฝงตัวอยู่รอบกายพวกเรานี่เอง
ช่วงระหว่างปีค.ศ.1951-1965 มีเงินทุนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ไหลเข้าสู่ไต้หวันผ่านโครงการความช่วยเหลือที่ผนวกรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินทุน เทคโนโลยี และการศึกษา ซึ่งได้พลิกชะตากรรมของไต้หวันให้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง แต่หลังสิ้นสุดช่วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าวแล้ว ทั้งเรื่องราวและผู้คนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้เลือนหายไปเกือบหมดสิ้น เหลือเพียงสถาปัตยกรรมจำนวนเล็กน้อยที่ถูกรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นหน้าต่างที่จะนำพาเราย้อนเวลากลับไปสู่อดีต
แฝงตัวอยู่ข้างกาย แต่กลับยากที่จะรู้สึกได้
รายงานของ “โครงการประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมมรดกทางวัฒนธรรมภายใต้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ” ที่จัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เมื่อปีค.ศ.2016 ระบุว่า สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในรูปแบบของเงินกู้หรือกองทุนมีมากกว่า 500 รายการ สถาปัตยกรรมที่มีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบและทรงเหล่านี้มีความหลากหลายมาก ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ตั้งทางทหาร อาคารโรงงาน อาคารสำนักงาน และโรงเรียน เป็นต้น
สถาปัตยกรรมยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มีมากมาย ทำไมจึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้คน ?
สาเหตุประการแรก เนื่องจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ เน้นด้านประสิทธิผลทางเศรษฐกิจและประโยชน์การใช้งานเป็นสำคัญ ทำให้สถาปัตยกรรมในยุคนั้นไม่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ด้านสุนทรียศาสตร์ แต่ในแง่มุมของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไต้หวันแล้ว ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นมาก เนื่องจากเงินทุนจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ ทำให้สถาปนิกไต้หวันยุคแรกได้มีโอกาสแสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ พวกเขาได้ใช้วิชาความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่เล่าเรียนมาจากโลกตะวันตก ไม่เพียงแต่ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของลัทธิสมัยใหม่แล้ว ขณะเดียวกันยังได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาทั้งด้านเทคนิคและวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย อาทิ เทคนิคคอนกรีตอัดแรงและอิฐบล็อก เป็นต้น
ขอให้ลองจินตนาการสภาพการณ์ในไต้หวันยุคหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า บนผืนแผ่นดินนี้นอกจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นหน่วยงานราชการของญี่ปุ่นที่หลงเหลืออยู่ ยังมีหอพักสไตล์ญี่ปุ่นที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หรือบ้านที่สร้างด้วยอิฐและบ้านดินแบบดั้งเดิม แต่แล้วจู่ๆ ก็มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ออกแบบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปลักษณ์ภายนอกสะอาดสะอ้าน หรือแม้กระทั่งบางส่วนยังแฝงไว้ด้วยรูปทรงเรขาคณิตปรากฏขึ้นมา..
ถือเป็นการเปิดหน้าศักราชใหม่ให้แก่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไต้หวัน
ฐานที่มั่นแห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรมแผ่นเสียง : สโมสรทหารอเมริกันบนภูเขาหยางหมิงซาน (เสิ่นจู่ไห่ ค.ศ.1968)
คุณหวงเจี้ยนหัว (黃建華) เจ้าของ HC Space Design ซึ่งยึดมั่นในหลักการ “การออกแบบดำรงอยู่เพื่อคน ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์” ตัดสินใจรับงานซ่อมแซมใน “โครงการวัฒนธรรมบ้านเก่า” ที่ผลักดันโดยกองวัฒนธรรมกรุงไทเป และจากการตัดสินใจที่ถูกต้องของเขานี่เอง ช่วยให้บ้านเก่าที่ทรุดโทรมจนแทบจะล้มครืนลงมาทั้งหลังฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
บ้านเก่าหลังนี้ ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาเฉ่าซาน ชาวบ้านในแถบนี้ซึ่งมีทั้งสิ้น 217 หลังคาเรือน เรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านฝรั่ง” แท้ที่จริงแล้วที่นี่คือ สโมสรทหารอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ที่ได้รับความนิยมจากครอบครัวทหารอเมริกันเป็นอย่างมาก ตัวอาคารที่ยกสูงสร้างด้วยอิฐแดงบนพื้นที่กว้างใหญ่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ในอดีตยังมีสระว่ายน้ำกลางแจ้งที่ได้มาตรฐาน ความลึก 3 เมตร 1 สระ ปัจจุบันถูกแปลงโฉมไปเป็นอาคารเอนกประสงค์ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม จัดแสดงนิทรรศการ เป็นเวทีการแสดง และแหล่งรวบรวมแผ่นเสียง ในตอนแรกสุด อาคารหลังนี้สร้างขึ้นโดยคุณเสิ่นจู่ไห่ วิศวกรที่เคยเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาทหารอเมริกัน แต่ต่อมา จากการขยายตัวอาคารและรีโนเวทในแต่ละยุค ทำให้กลายเป็นอาคารที่ใช้วัสดุก่อสร้างผสมผสานกัน 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ ไม้ อิฐ เหล็กกล้า และคอนกรีตเสริมเหล็ก จากความซับซ้อนของการออกแบบนี่เอง ทำให้ทีมสถาปนิกไม่กล้าบุ่มบ่ามลงมือซ่อมแซมอาคารเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมหลังนี้ พวกเขาได้เชิญครูช่างที่เชี่ยวชาญวิธีการก่อสร้างแบบโบราณ เช่น การเข้าไม้แบบใช้เดือยและการผูกเหล็ก คุณหวงเจี้ยนหัวได้ออกแบบหน้าต่างติดพื้น โดยใช้กรอบอะลูมิเนียมเพื่อให้เข้ากันกับสถาปัตยกรรมสไตล์อเมริกันคันทรี ที่พิเศษที่สุดคือ หลังคาใช้กระเบื้องที่ได้จากโรงเผากระเบื้องเก่าที่ปิดตัวไปนานแล้ว แต่กลับยังมีกระเบื้องดินเผาแบบลอนคู่หลายพันชิ้นที่ขายไม่ออกถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าของโรงงาน เนื่องจากเป็นกระเบื้องจากเตาเผาที่ต่างกัน ทำให้สีกระเบื้องไม่เป็นสีเดียวกัน ทั้งหมดเหมือนกระเบื้องในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เฉดสีกระเบื้องที่ไล่เรียงกัน เช่น สีส้มอมทอง สีส้มเหลือง และสีแดงทับทิม กลับให้ความรู้สึกที่เสมือนเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ทับถมกันเป็นชั้นๆ
บรรทัดฐานของจีนในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ : ศูนย์กิจกรรมนักศึกษาอาคารที่ 1 มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (หวังต้าหง ค.ศ.1961)
คุณหวังต้าหง (王大閎) สถาปนิกไต้หวันที่มีผลงานโดดเด่นรุ่นแรกยุคหลังสงครามโลก เอกลักษณ์ของผลงานอยู่ที่การหลอมรวมบริบทของลัทธิสมัยใหม่เข้ากับสถาปัตยกรรมจีนโบราณได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์กิจกรรมนักศึกษาแห่งที่ 1 มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) โดยนำเอาหลักการของตาราง 9 ช่อง มาใช้ในการกั้นห้องและกำหนดตำแหน่งหักมุมของเส้นบนหลังคาไว้ที่เหนือบันไดลอยบริเวณทางเข้าอาคาร อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่พบเห็นได้โดยทั่วไป กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกคุ้นเคยมากกว่า ก็คือรูปแบบของสถาปัตยกรรมจีน อาทิ ประตูสีแดงสูงยาวซึ่งเลียนแบบหน้าต่างไม้ยาวติดพื้นแบบจีนโบราณ ผนังกั้นที่บริเวณทางเข้า และระเบียงนอกอาคาร เป็นต้น สถาปนิกในยุคนั้นได้นำเอาแนวคิดเรื่องการถ่วงสมดุลและหลอมรวมกันของโลกตะวันออกกับตะวันตกสะท้อนออกมาเป็นสถาปัตยกรรมไต้หวัน
ความงามของลายเส้นเรขาคณิต : อาคารนิทรรศการ การเกษตร มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
(อวี๋เยวเจิ้น และจางจ้าวคัง ค.ศ.1963)
ช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว การออกแบบสถาปัตยกรรมโดยใช้อิฐบล็อกช่องลมลายดอกไม้ได้รับความนิยมอย่างมากในเขตพื้นที่ทางภาคกลางและตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ขณะที่สถาปัตยกรรมจีนโบราณสไตล์ฮกเกี้ยนมักจะใช้อิฐบล็อกช่องลมลายดอกไม้มาตกแต่งตัวอาคาร และเมื่อกระแสความนิยมนี้โหมกระพือเข้าสู่ไต้หวัน สถาปนิกท้องถิ่นก็สามารถซึมซับได้ในทันที ดังนั้นกำแพงคอนกรีตที่ก่อขึ้นโดยใช้อิฐบล็อกช่องลมลายดอกไม้จึงกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมในยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
อาคารนิทรรศการการเกษตรยังได้รับฉายาว่า “ต้งต้งก่วน”(洞洞館 หมายถึง อาคารที่เต็มไปด้วยรู) สาเหตุเพราะมีการนำท่อกระเบื้องเซรามิกฝังลงไปบนผนังคอนกรีต ตัวอาคารตั้งตระหง่านอยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาคารหลังนี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Cultural Heritage) ความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้มาจากการนำเอาลายเส้นและรูปทรงเรขาคณิตจำนวนมากมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะเจาะ ยกตัวอย่างเช่น ผนังด้านนอกของอาคารชั้น 1 ที่ฉาบด้วยกระเบื้อง แลดูคล้ายกับก่อขึ้นด้วยอิฐแดงแบบโบราณ แต่ส่วนที่เป็นฐานและส่วนบนสุดใช้วิธีก่ออิฐในแนวตั้ง เส้นแบ่งกรอบบนพื้นระเบียงด้านนอกสุดเป็นแนวเดียวกับเส้นแบ่งกรอบของเสาอาคาร หรือแม้แต่บันไดสองแห่งที่อยู่ภายในตัวอาคาร แห่งหนึ่งทำเป็นบันไดวน ส่วนอีกแห่งหนึ่งเป็นบันไดแบบพับได้ที่พบเห็นได้โดยทั่วไป
ใช้อิฐกลวงจำนวนมากเป็นวัสดุก่อสร้าง : อาคารยิมเนเซียมเก่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (หยางจั๋วเฉิง ค.ศ.1962)
อาคารรูปทรงคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมแคบยาว เป็นสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ นอกจากใช้อิฐบล็อกช่องลมลายดอกไม้มาตกแต่งผนังแล้ว ยังใช้อิฐกลวงจำนวนมากมาเป็นวัสดุในการก่อสร้าง คุณเซี่ยหมิงต๋า (謝明達) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยตั้นเจียง (TKU) อธิบายให้เราฟังว่า อิฐกลวงก็เหมือนกับอิฐแดงแบบโบราณ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากใช้ระยะเวลาในการผลิตสั้นแล้ว อัตราส่วนของผลผลิตที่มีตำหนิยังต่ำมาก อิฐที่เผาออกมาเป็นเวลา 7 วัน สามารถนำไปใช้ได้ทันที และหลังเผาเป็นเวลา 28 วัน จะมีความทนทานต่อแรงกดทับ อีกทั้งจากการที่อิฐกลวงมีขนาดค่อนข้างใหญ่จึงสามารถก่ออิฐให้ตรงกันได้ไม่ยาก ซึ่งจะช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น ประกอบกับในยุคนั้นเป็นช่วงที่ไต้หวันกำลังมีการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำนวนมากทำให้อิฐแดงขาดแคลน ดังนั้นจากการเสนอแนะของฝ่ายสหรัฐฯ โครงการก่อสร้างต่างๆ จึงหันมาใช้อิฐกลวงแทน
โบสถ์ของทหารอเมริกันประจำไต้หวัน : ศูนย์ศิลปะ The Odeum มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (ค.ศ.1963)
ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันยังมีร่องรอยของยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลงเหลืออีกแห่งหนึ่ง เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ระหว่างคณะบริหารธุรกิจกับศูนย์กิจกรรมนักศึกษาอาคารที่ 2 อาคารหลังนี้ในอดีตคือ Taipei Air Station เป็นศูนย์การสื่อสารของฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำไต้หวัน ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นสายอากาศบางส่วนหลงเหลืออยู่ หลังจากกำแพงถูกรื้อถอนไปแล้ว
โรงเรียนอนุบาล NTU ในอดีตคือโรงซ่อมรถ และห่างออกไปไม่ไกลนักเป็นศูนย์ศิลปะ The Odeum ที่ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศิลปะมากมาย ด้านหน้าอาคารเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยมที่แต่ละด้านไม่เท่ากันคล้ายกับกล่องขนมเค้ก อาคารหลังกะทัดรัดแห่งนี้ ในอดีตคือโบสถ์ของทหารอเมริกันประจำไต้หวัน ปัจจุบันสถานที่ที่บาทหลวงเคยใช้แสดงธรรมเทศนาแห่งนี้ ถูกแปลงโฉมมาเป็นสถานที่จัดการแสดงขนาดเล็ก อาจกล่าวได้ว่าปรับปัจจุบันให้สอดรับกับอดีต
หลอมรวมบริบทแห่งการตกแต่งของสถาปัตยกรรมยุคราชวงค์ฮั่น : อาคารจู๋หมิง
มหาวิทยาลัยเจียวทง (หลูอวี้จวิ้น ค.ศ.1960)
มหาวิทยาลัยเจียวทง (NCTU) ที่สร้างขึ้นใหม่ในไต้หวันเป็นแห่งแรก คือที่วิทยาเขตโป๋อ้าย ซึ่งภายในเต็มไปด้วยร่องรอยของยุคความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ผ่านซุ้มประตูที่บริเวณทางเข้า สิ่งแรกที่ผ่านเข้าสู่ม่านตาก็คือ อาคารของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (College of Biological Science and Technology) ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของคุณหลูอวี้จวิ้น (盧毓駿) สถาปนิกที่เป็นผู้ออกแบบอาคารวิทยาศาสตร์ของสถาบันหนานไห่ อาคารสีขาวที่ดูเรียบง่ายหลังนี้ใช้รูปแบบการตกแต่งสไตล์จีนโบราณเข้ามาเสริมหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น ลูกกรงเหนือขอบประตูใช้เดือยรูปทรงหอก 3 ง่าม ซึ่งเป็นวิธีการเข้าไม้แบบเดือยรูปตัวอักษร 人 (อ่านว่า เหริน แปลว่า คน) ที่มีต้นกำเนิดในสมัยราชวงค์ฮั่น นอกจากนี้ ด้านซ้ายของประตูทางเข้ายังคงได้เห็นป้ายจารึกข้อความว่า “ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ” ซึ่งเป็นประจักษ์พยานสำคัญแห่งยุคสมัย
ขอเชิญชวนทุกท่านหาโอกาสไปเยือนสถานที่เหล่านี้กันสักครั้ง ลองไปดื่มด่ำกับร่องรอยแห่งยุคสมัยผ่านสถาปัตยกรรม และไปเรียนรู้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ยุคแรกของไต้หวันกันค่ะ