ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน – EU ครั้งที่ 32 เปิดฉากแล้ว
2020-12-18
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ไต้หวัน – EU จัดการประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ไต้หวัน – EU จัดการประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ธุรกิจของไต้หวันมีข้อได้เปรียบด้านความยืดหยุ่นในการผลิตและมีศักยภาพในด้านนวัตกรรม จึงถือเป็นพันธมิตรที่ดีสำหรับการเสริมสร้างนโยบายการค้าแบบ “Open Strategic Autonomy” ของ EU

♦ EU เป็นประธานของการประชุม ICCR ประจำปีนี้ ซึ่งได้มีการประกาศรับไต้หวันเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของ ICCR ในระหว่างการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วย

♦ EU ถือเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ประกอบการด้านกังหันลมนอกชายฝั่งที่มาจากยุโรป ซึ่งมีการขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลอดช่วงที่ผ่านมา
-------------------------------------------
กรมการค้าระหว่างประเทศ วันที่ 17 ธ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. “การประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - สหภาพยุโรป (EU) ครั้งที่ 32” ได้เปิดฉากขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายเฉินเจิงฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Ms. Helena Koenig รองหัวหน้ากองอำนวยการการค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ โดยในระหว่างการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือกันในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้า อาทิ การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระดับโลกและทวิภาคี นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวทางการประยุกต์ใช้ศักยภาพของผู้ประกอบการชาวยุโรป ในการสร้างคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาพลังงานลมให้แก่ไต้หวัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็แสดงความพอใจในผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการประชุมเจรจาและความคืบหน้าในการสร้างความร่วมมือต่างๆ

 

รมช. เฉินฯ กล่าวว่า ไต้หวันยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตยเช่นเดียวกับ EU มาเป็นเวลานาน ซึ่งธุรกิจของไต้หวันมีข้อได้เปรียบด้านความยืดหยุ่นในการผลิตและมีศักยภาพในด้านนวัตกรรม จึงถือเป็นพันธมิตรที่ดีสำหรับการเสริมสร้างนโยบายการค้าแบบ “Open Strategic Autonomy” ของEU

 

Ms. Koenig แสดงความพอใจในผลการประชุมเจรจาครั้งนี้ ที่สามารถกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – EU ให้เกิดความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นสื่อกลางเพื่ออภิปรายในประเด็นการค้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญ นอกจากนี้ การประชุมของคณะทำงานย่อยและการสัมมนาต่างๆ ที่จัดขึ้น ก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนในเชิงกว้างระหว่างสองฝ่ายด้วยเช่นกัน โดยในอนาคต EU จะเสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวันในเชิงลึกต่อไป

 

ในระหว่างการประชุม ตัวแทนฝ่ายยุโรปชี้ว่า หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ทางความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – EU มีความแนบแน่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการประชุมเจรจาในครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมจัดการประชุมเจรจาด้านอุตสาหกรรมในระดับรัฐมนตรีและการประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นวาระประจำ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน – EU เพื่อสร้างโอกาสทางความร่วมมือระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้นต่อไป

 

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม ตัวแทนไต้หวันได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อ EU ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกในการประชุมความร่วมมือด้านกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอางระหว่างประเทศ (International Cooperation on Cosmetics Regulation, ICCR) โดยไต้หวันได้เข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปีของ ICCR ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา และได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนฝ่ายยุโรปในคณะทำงานด้านภารกิจเวชภัณฑ์ ภายใต้การประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดย EU เป็นประธานของการประชุม ICCR ประจำปีนี้ ซึ่งได้มีการประกาศรับไต้หวันเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของ ICCR ในระหว่างการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วย โดยในอนาคต ไต้หวันจะเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ICCR อย่างเต็มที่ เพื่อทำความเข้าใจกับแนวโน้มการพัฒนาและกฎระเบียบเครื่องสำอางระหว่างประเทศในเชิงลึกต่อไป

 

EU เป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไต้หวัน โดยมีมูลค่าการค้ารวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 คิดเป็นจำนวนกว่า 46,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านการลงทุน EU ถือเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ประกอบการด้านกังหันลมนอกชายฝั่งที่มาจากยุโรป ซึ่งมีการขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลอดช่วงที่ผ่านมา และนับจนถึงปลายเดือนตุลาคมของปีนี้ ยอดการลงทุนของ EUในไต้หวัน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 48,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วย