สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ไต้หวันและไทยนับเป็นสองประเทศที่ประชาคมโลกให้การยอมรับว่า เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
♦ นับตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทาง NHI ได้เร่งวิจัยและพัฒนาระบบสัญญาณเตือนภัยการเดินทางเข้าสู่ประเทศ / เขตพื้นที่ทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลประวัติการเดินทาง (Travel) ประเภทอาชีพ (Occupation) ประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน (Contact) หรือประวัติการรวมกลุ่มกับกลุ่มชน (Cluster) หรือที่เรียกโดยรวมว่า TOCC เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบ
♦ การจัดตั้งระบบข้อมูลทางการแพทย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ถือเป็นข้อได้เปรียบของไต้หวัน ที่นานาประเทศทั่วโลกต้องการเรียนรู้และอ้างอิงจากประสบการณ์ของไต้หวัน
-------------------------------------------
สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 16 ธ.ค. 63
ตลอดช่วงที่ผ่านมา นานาประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้มาตรการการป้องกันโรคระบาดทุกรูปแบบ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) โดยในปัจจุบัน ไต้หวันและไทยนับเป็นสองประเทศที่ประชาคมโลกให้การยอมรับว่าเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ไต้หวัน - ไทยได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ภายใต้การสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือของนายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย โดยได้เชิญคุณวิไลลักษณ์ วิสาสะ หัวหน้ากลุ่มประสานงานระหว่างประเทศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย (National Health Security Office, NHSO) หรือเรียกโดยย่อว่า สปสช. เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านแนวทางการรับมือกับโรคโควิด – 19 ด้วยระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย ทางฝั่งไต้หวัน นอกจากเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน (NHI) ได้ร่วมแบ่งปันการประยุกต์ใช้ระบบข้อมูลการประกันสุขภาพเข้าช่วยในการป้องกันโรคระบาดแล้ว พร้อมนี้ยังได้เชิญนายเจี่ยงหรงเซียน ประธานคณะกรรมการบริหารของศูนย์ข้อมูลสถิติสุขภาพแห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเฉิงกงแห่งชาติ เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการยกระดับประสิทธิภาพการป้องกันโรคระบาดของหน่วยงานสถานพยาบาลอีกด้วย โดยในระหว่างการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานวิชาการและหน่วยงานการแพทย์จากสองประเทศ เข้าร่วมพูดคุยหารือผ่านรูปแบบออนไลน์ ทำให้ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจมาก
นายหลี่ปั๋วจาง ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน (National Health Insurance Administration, NHI) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทาง NHI ได้เร่งวิจัยและพัฒนาระบบสัญญาณเตือนภัยการเดินทางเข้าสู่ประเทศ / เขตพื้นที่ทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลประวัติการเดินทาง (Travel) ประเภทอาชีพ (Occupation) ประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน (Contact) หรือประวัติการรวมกลุ่มกับกลุ่มชน (Cluster) หรือที่เรียกโดยรวมว่า TOCC เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบ จึงสามารถสกัดกั้นโรคระบาดไว้ได้อย่างทันท่วงที ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นายหลี่ฯ เห็นว่า เพื่อขานรับต่อนโยบายมุ่งใต้ใหม่ และคำนึงถึงความต้องการของประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่ต้องการจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของไต้หวัน โดยเฉพาะการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพและระบบข้อมูลทางการแพทย์ ในปี 2019 ทาง NHI จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงแลกเปลี่ยนขึ้นที่เวียดนามและฟิลิปปินส์ตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะบังเกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างสถาบันการแพทย์ของไต้หวันและประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปีนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จึงทำให้ตัวแทนของสองประเทศไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่เพื่อแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเช่นในครั้งก่อนๆ แต่เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีกับประเทศเป้าหมายนโยบายตามมุ่งใต้ใหม่ในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง NHI จึงทำการปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่อย่างต่อเนื่อง
นายหลี่ฯ ยังกลาวอีกว่า ประสบการณ์อันล้ำค่าของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน โดยเฉพาะในด้านการจัดตั้งระบบข้อมูลทางการแพทย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ถือเป็นข้อได้เปรียบของไต้หวัน ที่นานาประเทศทั่วโลกต้องการเรียนรู้และอ้างอิงจากประสบการณ์ของไต้หวัน จึงหวังว่า การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนกับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ผ่านการจัดการประชุมด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในครั้งนี้ จะเป็นการสำแดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงซอฟท์พาวเวอร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไต้หวันอีกครั้ง