การขี่จักรยานไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 122 ทำให้เราได้สัมผัสกับทั้งศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และทิวทัศน์ของธรรมชาติ ถือเป็นทริปที่คุ้มค่าแก่การมาเยือนจริงๆ (ภาพ: เติ้งฮุ่ยฉุน)
เริ่มจากจู๋ตงไปตามทางหลวงหมายเลข 122 ในพื้นเมืองซินจู๋ที่ทอดยาวไปจนถึงวนอุทยานกวนอู้ ซึ่งได้พาเราไปสัมผัสกับวัฒนธรรมชาวฮากกา บ้านนายพลจางเสวียเหลียง และประวัติศาสตร์การทำป่าไม้ในแถบกวนอู้ แถมยังมีโอกาสได้เห็นทิวทัศน์อันยิ่งใหญ่ตระการตาของเทือกเขาเสวี่ยซาน จึงถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมและธรรมชาติแฝงอยู่อย่างเปี่ยมล้นจริงๆ
ตำบลจู๋ตง ตั้งอยู่บริเวณใจกลางของเมืองซินจู๋ เดิมเรียกว่า “ซู่ฉี่หลิน” มีทางหลวงหมายเลข 122 ตัดผ่านกลางตำบล ที่นี่คือจุดเริ่มต้นในการเดินทางของเราในทริปนี้
ในตำบลแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งที่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำของชาวซินจู๋ เช่น บ้านไม้ทรงญี่ปุ่นที่กำแพงด้านนอกก่อด้วยอิฐแดงและมีหลังคาสีดำที่อยู่ภายในสวนศิลปะเซียวหรูซง บนถนนซานหมินเจีย คุณเซียวหรูซง (蕭如松) สอนหนังสืออยู่ในพื้นที่ซินจู๋มานานเกือบ 40 ปี จบการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมปลาย และไม่เคยไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ใช้การฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเองจนสามารถหล่อหลอมสไตล์การวาดรูปแบบต่างๆ ของตะวันตกให้กลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตนเอง บ้านพักเดิมของท่านถูกเก็บรักษาเอาไว้ และกลายเป็นทิวทัศน์อันคุ้นเคยภายในเมือง ในอดีต จู๋ตง ตงซื่อ และหลัวตง ถือเป็นแหล่งสำคัญของอุตสาหกรรมป่าไม้ในไต้หวัน หากแต่หลังจากมีการออกกฎหมายห้ามการตัดไม้ทำลายป่าในปีค.ศ.1992 เป็นต้นมา ทำให้เมืองน้อยที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนและมีการค้าขายที่คึกคักแห่งนี้ต้องสูญเสียศักยภาพของตัวเอง ร่องรอยต่างๆ ของอุตสาหกรรมป่าไม้แทบจะจางหายไป แต่โชคดีที่ยังมีหอจัดแสดงอุตสาหกรรมป่าไม้จู๋ตงที่คอยบอกเล่าเรื่องราวของการทำป่าไม้ในอดีตผ่านทางสิ่งของต่างๆ ที่ถูกนำมาจัดแสดง เพื่อช่วยให้ประวัติศาสตร์ของการทำป่าไม้ยังไม่ถูกลืมเลือน
หร่วนเฉียว หมู่บ้านหลากสีและระบบนิเวศแบบอินทรีย์
เมื่อรถของเรามาถึงกิโลเมตรที่ 26 ของทางหลวงหมายเลข 122 ตลอดสองข้างทางคือทิวทัศน์เขียวขจีของขุนเขาและท้องทุ่ง ซึ่งมีการแต่งแต้มด้วยสีสันอันสดใส สร้างบรรยากาศอันสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟฟ้าที่ถูกวาดลวดลายเป็นรูปไฉ่ซิงเอี้ยหรือไฉเสิน (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) ในแบบน่ารักๆ กำแพงของอาคารบ้านเรือนที่มีภาพวาดแบบทะเล้นๆ อันน่ารักสดใสของหญิงสาวชาวฮากกา ที่กางเกงหลุดจนเห็นกางเกงในแบบจีสตริง ภาพวาดเหล่านี้ทำให้ความเป็นหมู่บ้านหลากสีสันของหร่วนเฉียวบนทางหลวงหมายเลข 122 กลายเป็นที่กล่าวขานไปจนทั่ว
คุณเผิงซงจวี่ (彭松舉) ซึ่งเป็นผู้วางแผนพัฒนาชุมชน อธิบายว่า เดิมทีเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยุงลาย ผู้คนในชุมชนจึงได้ช่วยกันขูดตะไคร่น้ำและขัดล้างอาคารบ้านเรือนให้สะอาด ก่อนที่อู๋จุนเสียน (吳尊賢) ลูกเขยของหร่วนเฉียวจะเกิดไอเดีย โดยวาดภาพวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวฮากกาลงไปบนกำแพงโล่งๆ ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ภายในชุมชน
คาดไม่ถึงว่าภาพวาดเหล่านี้จู่ๆ ก็ทำให้เมืองเล็กๆ เงียบๆ แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนเพิ่มมากขึ้น และเราก็ได้หยุดแวะที่นี่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่เผิงซงจวี่บอกกับเราว่า “ภาพวาดเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของชุมชนเท่านั้น เสน่ห์อันน่าดึงดูดใจที่มากกว่านี้ของชุมชนหร่วนเฉียวคือระบบนิเวศแบบอินทรีย์อันอุดมสมบูรณ์และทิวทัศน์แห่งศิลปวัฒนธรรม”
คุณหลีสวี่ฉวน (黎許傳) เจ้าของร้าน “เซิงหัวเถียนจวง” อธิบายกับเราว่า “ตรงนี้คือที่ราบตะกอนน้ำพาของแม่น้ำซั่งผิงซี ทำนบจู๋ตงชวนที่กักเก็บน้ำจากแม่น้ำซั่งผิงซี คือแหล่งน้ำสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ซินจู๋ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไต้หวันในทุกวันนี้”
เมื่อ 12 ปีก่อน ชุมชนหร่วนเฉียวได้ทำการผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความเป็นมิตรต่อผืนดิน ถือเป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมชุมชนเชิงนิเวศในพื้นที่ภาคเหนือของคณะกรรมการการเกษตร (COA) ซึ่งคุณเผิงซงจวี่บอกกับเราว่า “ที่นี่มีนกประมาณ 300 ชนิด” โดยคุณเผิงซงจวี่ได้ทำการปลูกต้นโอ๊กและต้นหยางเหมยเพื่อดึงดูดให้นกมาทำรัง “การรักษาระบบนิเวศไม่จำเป็นต้องทำแบบทุ่มเททุกอย่าง ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติก็เพียงพอแล้ว”
การพบกันของชนพื้นเมืองกับท่านนายพล
เมื่อขี่จักรยานต่อสู้กับความลาดชันของทางขึ้นเนินไปเรื่อยๆ เราก็จะมาถึงทางแยกบริเวณกิโลเมตรที่ 48 ของทางหลวงหมายเลข 122 ที่จะพาเราไปยังบ้านพักเดิมของนายพลจางเสวียเหลียง (張學良)
“เหตุการณ์ซีอาน” ที่เกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1936 ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก ได้ทำให้ชีวิตของท่านจางเสวียเหลียงต้องเหมือนหยุดอยู่กับที่ไปตลอดกาล หลังจากถูกส่งตัวมายังไต้หวันอย่างลับๆ พร้อมคุณจ้าวอีตี๋ (趙一荻) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคุณหญิงจ้าวสี่ในปีค.ศ.1946 ก็ได้พำนักอาศัยอยู่ในแถบแหล่งอาบน้ำแร่ซั่งจิ่งเวินฉวน (ชุมชนชิงฉวนปู้ลั่ว) ในซินจู๋เป็นเวลาประมาณ 13 ปี และมีโอกาสได้ผูกสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองเผ่าอตายัล (Atayal) หรือไท่หย่าจู๋อย่างคาดไม่ถึง
ซิ่วจวี๋หย่าไว่ (秀菊雅外) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าอตายัลที่ทำหน้าที่เป็นไกด์นำชมบ้านพักเดิมแห่งนี้เล่าให้เราฟังว่า ในตอนนั้นที่ท่านจางเสวียเหลียงถูกส่งตัวมาที่ชิงฉวน มีทหารติดอาวุธคอยอารักขาตลอดเวลา เหล่าผู้อาวุโสในชุมชนรู้แต่เพียงว่ามีคนใหญ่คนโตมาพำนักอาศัยอยู่ภายใน แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้ใด การที่ท่านจางเสวียเหลียงได้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองในพื้นที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์ ในปีค.ศ.1947 โดยในขณะนั้นสถานการณ์ในไต้หวันตึงเครียดมาก ทางเข้าออกเขตภูเขาถูกปิดกั้นทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเสบียงอาหาร ซิ่วจวี๋หย่าไว่เล่าว่า ผู้อาวุโสในชุมชนเห็นว่าบ้านพักของท่านจางเสวียเหลียงไม่มีควันไฟจากการทำอาหารมานานหลายวันแล้ว จึงเข้าไปสอบถามจากทหารอารักขา ทำให้รู้ว่าเสบียงอาหารส่งมาไม่ถึง เหล่าผู้อาวุโสจึงทำการรวบรวมหัวมันมาบริจาคให้ท่านจางเสวียเหลียงจนสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้ หลังจากนั้น ท่านจางเสวียเหลียงจึงสั่งการให้แบ่งสัดส่วนของการซื้อวัตถุดิบสำหรับเสบียงกรังที่ต้องใช้ โดยให้ซื้อจากในท้องที่ประมาณ 2 ใน 3 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนชนพื้นเมือง และมีปฏิสัมพันธ์กับชนเผ่าอตายัลเพิ่มมากขึ้น
กลับมาที่ทางหลวงหมายเลข 122 อีกครั้ง ถนนสายนี้ถูกตัดขึ้นในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน เพื่อใช้ในการขนส่งไม้สนฮิโนกิ (สมัยนั้นเรียกว่า ถ.จิ่งซั่งเต้าลู่) และมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของชนพื้นเมืองเป็นอย่างมาก โดยในช่วงที่อุตสาหกรรมป่าไม้คึกคัก ทำให้ชนพื้นเมืองมีงานทำ รถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งไม้ก็ถือเป็นพาหนะที่ใช้ในการติดต่อกับภายนอกไปในตัว ชาวบ้านจะจำเวลาเข้าออกของรถบรรทุกเอาไว้แล้วดักรอที่ทางแยก ก่อนจะจ่ายเงินเล็กน้อยเป็นค่าติดรถไปบนเขาหรือไปที่จู๋ตง และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งแตกตัวออกมาจากการทำป่าไม้
จากการตัดไม้กลายเป็นอนุรักษ์ป่า
เราขี่จักรยานเข้าป่าต่อไปเรื่อยๆ หลังจากผ่านหมู่บ้านถูฉ่างแล้ว ก็เริ่มเข้าสู่บริเวณของถนนต้าลู่หลินเต้า ซึ่งตัดขึ้นหลังจากรัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ย้ายมาปักหลักในไต้หวันแล้ว ก่อนหน้านี้ในสมัยที่ญี่ปุ่นยังปกครองเกาะไต้หวัน การขนส่งท่อนไม้จะใช้รถรางและรถชักรอกในการขนส่งเป็นหลัก และเนื่องจากการขนส่งไม่สะดวกจึงต้องเลือกตัดเฉพาะไม้ที่มีมูลค่าสูง หรือที่เรียกว่าการทำไม้ระบบเลือกตัด (Selective Logging) นั่นเอง
แต่หลังจากยุคปีค.ศ.1960 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมป่าไม้ของไต้หวัน โดยมีการนำเข้าเครื่องไม้เครื่องมือในการตัดไม้มาใช้งานมากขึ้น ทำให้ไต้หวันเข้าสู่ยุคของการตัดไม้แบบเต็มรูปแบบ ประกอบกับการตัดถนนต้าลู่หลินเต้า ส่งผลให้ไม้มีค่าจำนวนมากถูกขนส่งผ่านทางหลวงหมายเลข 122 สายนี้ไปรวมอยู่ที่จู๋ตง เพื่อทำการแปรรูป ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองเล็กๆ แห่งการทำป่าไม้อย่างจู๋ตงมีความคึกคักเป็นอย่างมาก
คุณจูเจี้ยนหมิง (朱劍鳴) หัวหน้าสถานีป่าไม้จู๋ตง กองบริหารป่าไม้เขตซินจู๋ กรมป่าไม้ไต้หวัน บอกกับเราว่า “ในช่วงปีค.ศ.1990 นโยบายด้านการป่าไม้ของรัฐบาลเปลี่ยนทิศทางมาสู่การห้ามตัดไม้ทำลายป่าอย่างเต็มรูปแบบ แนวคิดที่มีต่อป่าไม้ก็เปลี่ยนจากการคิดจะนำมาสร้างคุณค่าในทางเศรษฐกิจ กลายเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์” ในปีค.ศ.1995 มีการก่อตั้งวนอุทยานแห่งชาติกวนอู้ขึ้น และได้เปลี่ยนเป็นดึงดูดให้ประชาชนมาใกล้ชิดกับธรรมชาติผ่านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการให้ความรู้ด้านการรักษาสภาพแวดล้อม ในปัจจุบัน เรายังคงเห็นร่องรอยของการตัดไม้และรางของรถรางสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวันตามเส้นทางเดินป่าต่างๆ โดยที่เส้นทางเดินป่าเขาเจินซานยังคงเก็บรักษาชุดเครื่องมือในการลากและขนส่งท่อนไม้ที่ใช้งานในสมัยก่อนเอาไว้ และในระยะหลังมานี้ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นด้านสิทธิของชนพื้นเมืองมากขึ้น โดยเดิมที ผืนป่าแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ชาวเผ่าอตายัลและเผ่าไซซิยัต (Say-Siyat) ซึ่งหลังผ่านการเจรจาเป็นเวลานานหลายปี กรมป่าไม้ไต้หวันได้ทำข้อตกลงเพื่อเป็นพันธมิตรรักษาป่าร่วมกับเผ่าไซซิยัต และในอนาคตจะมีการจัดตั้งลานอตายัลขึ้นภายในสวนป่าด้วย เพื่อให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในผืนป่าแห่งนี้
ป่าแห่งความยั่งยืน กับการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ
จุดหมายปลายทางของถนนต้าลู่หลินเต้าคือ บ้านพักกวนอู้ซานจวง (Guanwu Cabins) ซึ่งรถยนต์สามารถเข้ามาถึงได้เพียงแค่จุดนี้ เป็นจุดที่อยู่บนกิโลเมตรที่ 56
กวนอู้ซานจวง เดิมทีคือบ้านพักของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ แต่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในปีค.ศ.2004 เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นอาเอเร (Aere) และเปิดทำการใหม่ในปีค.ศ.2018 หลังผ่านไป 13 ปี ที่บริเวณทางเข้าด้านหน้า ด้านหนึ่งเป็นต้นซากุระอู้เซ่อ (Prunus taiwaniana) อายุเกือบร้อยปี ซึ่งจะบานสะพรั่งในเดือนมีนาคมของทุกปี อีกด้านหนึ่งคือต้นอบเชยไต้หวัน (Sassafras randaiense) ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณที่หลงเหลือมาจากยุคน้ำแข็งครั้งที่ 3 และเป็นพันธุ์ที่มีเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น ซึ่งจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ภาพของดอกไม้สีเหลืองทองที่บานสะพรั่งอยู่ภายใต้ท้องฟ้าสีคราม ถือเป็นทิวทัศน์ที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง
วันรุ่งขึ้น เราเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินเท้าเพื่อทำการสำรวจวนอุทยานกวนอู้
คุณหลินอวี้ฉิน (林玉琴) ซึ่งเป็นอาสาสมัคร พร้อมด้วยคุณหลี่เซิงหมิง (李聲銘) ผู้เชี่ยวชาญ คือไกด์ของเราในวันนี้ โดยเราเลือกไปเดินสำรวจตามเส้นทางเดินป่าภูเขาไคว่ซานเพื่อชมมวลหมู่ต้นไม้ยักษ์ คุณหลินอวี้ฉิน ซึ่งทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่ที่นี่มานานกว่า 30 ปี ได้สอนให้เราได้รู้จักความแตกต่างของต้นสนฮิโนกิไต้หวันกับต้นสนฟอร์โมซา (หรือต้นสนแดงไต้หวัน) ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยลักษณะของต้นสนฮิโนกิไต้หวันจะเติบโตเป็นลำต้นใหญ่สูงขึ้นในแนวดิ่งเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ต้นสนฟอร์โมซาจะมีกิ่งก้านสาขามากกว่า และมักจะถูกแบคทีเรียหรือเชื้อรากัดกิน จนทำให้ส่วนลำต้นที่อยู่ใกล้กับรากจะมีลักษณะกลวง โดยคุณหลินอวี้ฉินบอกว่า ลักษณะของป่าไม้ในไต้หวันที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จากวนอุทยานกวนอู้จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันตระการตาของแนวสันเขาที่เรียกว่า “เซิ่งหลิงเซี่ยน (สันเขาศักดิ์สิทธิ์)” ได้ง่ายกว่า ซึ่งตลอดทางของกิโลเมตรที่ 3-4 ของเส้นทางเดินป่าภูเขาเล่อซานจะสามารถมองไปเห็นแนวสันเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากการเรียงตัวของภูเขาต้าป้าเจียนซาน เสี่ยวป้าเจียนซาน และภูเขาเสวี่ยซาน ถือเป็นทิวทัศน์ที่ดึงดูดสายตาของเราเป็นอย่างมากจนยากจะลืมเลือน และมีเพียงที่นี่เท่านั้นที่คุณจะมีโอกาสได้เห็นดอกเทียนบ้านตี้มู่ (Impatiens devolii) ดอกเทียนบ้านสีเหลือง (Impatiens tayemonii) และดอกเทียนบ้านสีม่วง (Impatiens uniflora) อยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันตามธรรมชาติ อีกทั้งที่นี่ก็เป็นสถานที่ที่มีการค้นพบซาลาแมนเดอร์ไต้หวัน (Hynobius fuca) เจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ชอบอาศัยอยู่ในเงามืดชื้นๆ ใต้ก้อนหิน ถือเป็นสัตว์โบราณที่มีชีวิตอยู่บนโลกตั้งแต่ในยุคน้ำแข็ง และเป็นประจักษ์พยานที่ถูกนำมาใช้ในการสันนิษฐานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในไต้หวันในช่วงแรกได้เป็นอย่างดี
การจำแนกชนิดของต้นไม้ถือเป็นความสามารถพิเศษของคุณหลินเซิงหมิง เมื่อมองไปยังมวลหมู่พฤกษานานาพรรณที่ปกคลุมอยู่เต็มพื้นดินจะสามารถระบุได้ว่า นี่คือต้นสาบแร้งสาบกาอาลีซาน (Stellaria arisanensis) ที่ดอกของมันดูแล้วเหมือนกระต่าย 5 ตัวกำลังประชุมกันอยู่ นี่คือต้นกล้วยไม้หม่าเปียนหลัน (Cremastra appendiculata) ต้นพวงแก้วกุดั่น (Dichocarpum arisanensis) ที่หาดูได้ยากมาก รวมไปจนถึงต้นหญ้าซั่วน่าเฉ่า (Mitella) ที่มีลักษณะคล้ายหางแมงป่อง ต้นฟอร์โมซาไวโอเล็ต ต้นปาเจี่ยวเหลียน (Dysosma) รวมไปจนถึงต้นไม้ผีอาลีซาน (Monotropa uniflora) ที่จะโผล่พ้นจากดินเฉพาะในช่วงที่ออกดอกเท่านั้น ต่างก็ไม่สามารถรอดสายตาของคุณหลี่เซิงหมิงไปได้
บนทางเดินสำหรับชมหมู่ต้นไม้ยักษ์ คุณหลินเซิงหมิงเก็บผลของต้นสนฟอร์โมซาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ขึ้นมาให้เราดู หลังจากแกะเปลือกออกก็จะเห็นเมล็ดของมันที่มีขนาดเล็กกว่าเมล็ดงาเสียอีก เมื่อหันกลับไปดูต้นไม้ยักษ์ซึ่งสูงถึง 42 เมตรที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า คุณหลินเซิงหมิงบอกความรู้สึกลึกๆ ภายในใจกับเราว่า “เมล็ดเล็กๆ แค่นี้ ต้องฝ่าฟันกับภัยธรรมชาติ น้ำมือมนุษย์ รวมไปจนถึงหนอนแมลงและแบคทีเรียสักขนาดไหน กว่าจะเติบโตมาเป็นต้นไม้สูงใหญ่ได้ขนาดนี้ ถือว่าเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย”
ในการเดินทางขี่จักรยานท่องไปในไต้หวันทริปนี้ เรามีโอกาสได้สำรวจร่องรอยของอุตสาหกรรมป่าไม้ในซินจู๋ ที่เคยมีผู้คนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้จำนวนไม่น้อย เคยเดินผ่านตามเส้นทางสายนี้ และผืนป่าแห่งนี้ก็เคยเสียหายอย่างหนักจากความไม่รู้จักพอของมนุษย์ โชคดีที่เราพยายามรักษารอยแผลอย่างเต็มที่ด้วยการปลูกป่าให้กลับคืนมา ทำให้เราได้ตระหนักว่า มีเพียงแต่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติเท่านั้น จึงจะเป็นเส้นทางไปสู่ความยั่งยืนที่จะช่วยให้ลูกหลานของเราได้มีโอกาสมีป่าเป็นแหล่งพักพิง
การขี่จักรยานไปบนทางในป่าที่มีแสงแดดสาดส่องลอดลงมาตามเงาไม้ การได้มีโอกาสสูดโอโซนเข้าไปเต็มปอด สองข้างทางเต็มไปด้วยทิวป่าเขียวขจี เพียงพริบตาเดียว จู่ๆ สายหมอกก็พัดผ่านเข้ามาจนทำให้มองออกไปได้ไม่ถึงสองเมตร และเมื่อเลี้ยวออกจากทางโค้ง ก็จะมองเห็นทะเลเมฆที่ลอยละล่องดุจดั่งเกลียวคลื่นที่ซัดสาด ภาพที่เห็นทำให้เรานึกถึงชื่อของกวนอู้ที่หมายถึงการชมหมอกว่า ช่างเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นได้อย่างคล้องจองกับสภาพความเป็นจริงของที่นี่เป็นอย่างมาก เราโชคดีมากที่มีโอกาสได้มาชื่นชมทิวทัศน์อันงดงาม พร้อมทั้งโผผินเข้าสู่อ้อมกอดแห่งสายลมและแสงแดด ซึ่งมีเพียงแต่ผู้ที่รักการขี่จักรยานทั้งหลายเท่านั้น จึงจะมีโอกาสได้รับสัมผัสแห่งความสุขเช่นนี้