ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตของไต้หวัน ประจำปี 2020
2020-12-25
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. กต.ไต้หวันประกาศรายงานผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตของไต้หวัน ประจำปี 2020 (ภาพจาก MOFA)
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. กต.ไต้หวันประกาศรายงานผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตของไต้หวัน ประจำปี 2020 (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ กต.ไต้หวันยึดมั่นในหลักการ “การทูตแบบเป็นรูปธรรม” เพื่อการผลักดันภารกิจทางการทูตอย่างกระตือรือร้น ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมโยงกับนานาประเทศ รวมไปถึงการวางรากฐานที่ครอบคลุมทั่วโลก พร้อมสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลก ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของไต้หวัน

♦ ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศต้นแบบในการป้องกันโรคระบาดทั่วโลก โดยได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดตามหลักการประชาธิปไตย ในรูปแบบไต้หวัน (Taiwan Model) พร้อมบรรลุแนวคิดว่าด้วย “ไต้หวันช่วยได้ และไต้หวันกำลังช่วย” อย่างเป็นรูปธรรม

♦ ไต้หวันต้องการที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนในเชิงลึกกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในยุคหลังโควิด – 19 ต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ 
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 23 ธ.ค. 63

 

หากกล่าวถึงภารกิจทางการทูตของไต้หวัน ในปี 2020 จัดเป็นปีที่เปี่ยมไปด้วยความท้าทายนานาประการ แต่ถึงกระนั้น กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) ก็ยังคงยืนหยัดในการปกป้องอำนาจอธิปไตย ศักดิ์ศรี และสิทธิประโยชน์ของประเทศอย่างเต็มกำลัง โดยยึดมั่นในหลักการ “การทูตแบบเป็นรูปธรรม” เพื่อการผลักดันภารกิจทางการทูตอย่างกระตือรือร้น ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมโยงกับนานาประเทศ รวมไปถึงการวางรากฐานที่ครอบคลุมทั่วโลก พร้อมสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลก ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของไต้หวัน ภายใต้การสนับสนุนและความพยายามร่วมกันของประชาชนไต้หวัน ส่งผลให้ภารกิจด้านการทูตของไต้หวันในปี 2020 บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย ดังนี้

 

1. ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง มุ่งก้าวสู่หุ้นส่วนทางความร่วมมืออย่างครอบคลุม

ตลอดปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ มีการพัฒนาที่เด่นชัดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้ “กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อพันธมิตรไต้หวันปี 2019 (Taiwan Allies International Protection and Enhancement Initiative (TAIPEI) Act of 2019”) เพื่อให้การสนับสนุนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ รวมถึงการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้จำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันเป็นประจำ ตราบจนปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน รวม 11 ครั้ง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

2. ไต้หวันเชื่อมโยงกับทั่วโลกด้วย “การป้องกันโรคระบาด” ส่งเสริมให้ประชาคมโลกมองเห็นไต้หวันได้อย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศต้นแบบในการป้องกันโรคระบาดทั่วโลก โดยได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดตามหลักการประชาธิปไตย ในรูปแบบไต้หวัน (Taiwan Model) พร้อมบรรลุแนวคิดว่าด้วย “ไต้หวันช่วยได้ และไต้หวันกำลังช่วย” (Taiwan Can Help, and Taiwan is Helping) อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนประสานความร่วมมือกับประชาคมโลกในการสกัดกั้นโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การวางแผนของกต.ไต้หวัน ตราบจนปัจจุบัน ไต้หวันได้บริจาคเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดและหน้ากากอนามัย รวมเป็นจำนวน 50 ล้านชิ้นให้แก่ 80 กว่าประเทศทั่วโลกแล้ว นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้เร่งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศด้านการป้องกันโรคระบาดอย่างกระตือรือร้นอีกด้วย

 

3. สานสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU อย่างลึกซึ้งด้วยการยึดมั่นในค่านิยมร่วมกัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการแลกเปลี่ยนที่เด่นชัด

นับตั้งแต่ที่สหภาพยุโรป (EU) ได้เสนอยุทธศาสตร์ว่าด้วย “การเชื่อมโยงระหว่างยุโรป - เอเชีย” (Europe-Asia Connectivity) การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – EU ก็เป็นไปอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในตลอดช่วงที่ผ่านมานี้ ประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างได้ทยอยพิจารณาและปรับแก้นโยบายสำหรับไต้หวันให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกต.ไต้หวันสามารถคว้าโอกาสนี้ไว้ด้วยการเปิดหน้าใหม่แห่งความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศยุโรป ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม ซึ่งได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมายในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างนักการเมือง การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

 

4. ขยายรากฐานทางยุทธศาสตร์ไปยังทั่วโลก โดยในปีนี้ไต้หวันได้ทยอยจัดตั้งสำนักงานย่อยขึ้นในสหรัฐฯ ภูมิภาคยุโรป และแอฟริกา

สภาพแวดล้อมทางการทูตของไต้หวันค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่ภายใต้ความพยายามของรัฐบาลในการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ ส่งผลให้การวางรากฐานของไต้หวันในต่างประเทศในปีนี้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค. กต.ไต้หวันได้เปิดตัว “สำนักงานตัวแทนไต้หวันในสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มฐานสำคัญในการปฏิบัติภารกิจทางการทูตของไต้หวันในภูมิภาคแอฟริกา ตามมาด้วยการฟื้นฟู “สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำเกาะกวมแห่งสหรัฐอเมริกา” ขึ้นในวันที่ 10 ต.ค. ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในเชิงลึกและเพื่อวางรากฐานของไต้หวันในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการทำพิธีเปิดป้าย “สำนักงานตัวแทนไทเปประจำเมืองโพรวองซ์” ณ พื้นที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – ฝรั่งเศสในเชิงลึก พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการให้บริการแก่ประชาชนชาวไต้หวันที่พำนักอยู่ในฝรั่งเศสอีกด้วย

 

5. สมาชิกรัฐสภาจากนานาประเทศทั่วโลกผนึกกำลังร่วมกัน ให้การสนับสนุนไต้หวัน

เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2019 สมาชิกรัฐสภายุโรป อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ได้รวมตัวกันก่อตั้ง “สโมสรฟอร์โมซา” (Formosa Club) ขึ้น ตราบจนปัจจุบัน มีสมาชิกรัฐสภากว่าร้อยคนจากรัฐสภายุโรปและกลุ่มพันธมิตรไต้หวันรวม 10 ประเทศเข้าร่วม นอกจากนี้ ภายในปีนี้ สมาชิกรัฐสภากลุ่มพันธมิตรไต้หวันในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแอฟริกา ก็ได้ทยอยจัดตั้ง “สโมสรฟอร์โมซา” ขึ้นเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาจาก 17 ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและอเมริกากลางจำนวน 144 คนเข้าร่วม ส่วนภูมิภาคแอฟริกา ก็มีสมาชิกรัฐสภารวม 181 คนจาก 29 ประเทศเข้าร่วมในสโมสรดังกล่าว เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง

 

6. เพิ่มโอกาสที่ประชาคมโลกจะสามารถมองเห็นไต้หวันได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับเสียงชื่นจากนานาประเทศชมอย่างกว้างขวาง

ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และการสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลก ทำให้ไต้หวัน ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง อาทิ Mr. Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงนักการเมืองจากอีกหลายประเทศ ต่างทยอยแสดงความขอบคุณต่อไต้หวัน ที่ได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาคมโลก โดยรายงานข่าวจากสื่อนานาชาติได้ทยอยตีพิมพ์บทความที่ให้การชื่นชมไต้หวัน รวมกว่า 3,500 บทความ

 

7. บทสรุป

ไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี 2021 ไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและเป็นพลังแห่งความดีของโลก นอกจากจะเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศพันธมิตรอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังต้องการที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนในเชิงลึกกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในยุคหลังโควิด – 19 ต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ ต่อกรกับการขยายอำนาจเผด็จการและการคุกคามจากจีน ร่วมปกป้องค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมถึงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศให้คงอยู่ต่อไป ตลอดจนรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกสืบไป