ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
หอวรรณกรรมไต้หวันเปิดตัวอย่างอลังการ กลุ่มอาคารหอพักสไตล์ญี่ปุ่นได้รับการยกระดับเป็นอุทยานศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่
2021-01-19
New Southbound Policy。หอวรรณกรรมไต้หวันเปิดตัวอย่างอลังการ กลุ่มอาคารหอพักสไตล์ญี่ปุ่นได้รับการยกระดับเป็นอุทยานศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่
หอวรรณกรรมไต้หวันเปิดตัวอย่างอลังการ กลุ่มอาคารหอพักสไตล์ญี่ปุ่นได้รับการยกระดับเป็นอุทยานศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ หอวรรณกรรมไต้หวัน ที่ตั้งอยู่ในกรุงไทเป ได้เปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค. นับเป็นกลุ่มอาคารหอพักสไตล์ญี่ปุ่นที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

♦ หอพักทั้ง 7 อาคารถูกสรรค์สร้างให้เป็นหอวรรณกรรมไต้หวัน ด้วยการกำหนดจุดยืนและปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทุกแง่มุมของวรรณกรรมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
-------------------------------------------
MOC วันที่ 18 ม.ค. 64

 

กระทรวงวัฒนธรรม (Ministry of Culture, MOC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า หอวรรณกรรมไต้หวัน (Taiwan Literature Base ) ซึ่งเป็นอุทยานศิลปวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนจี้หนานและฉีตง กรุงไทเป ได้เปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค. นับเป็นกลุ่มอาคารหอพักสไตล์ญี่ปุ่นที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด มีสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์รวม 7 อาคาร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 350 ผิง หรือเทียบเท่ากับ 1,155 ตารางเมตร เปี่ยมด้วยบรรยากาศที่พิเศษและมีความปราณีตเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าในอนาคต พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นชุมชนที่รวบรวมนักเขียน นักวิจารณ์ ผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ และผู้อ่าน เข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนเป็นแหล่งรวมพลังสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

 

นายหลี่หย่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า การจัดตั้งหอวรรณกรรมไต้หวันถือเป็นหลักชัยที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยรมว.หลี่ฯ ได้แสดงความขอบคุณผู้ใหญ่บ้าน ลูกบ้าน และสมาชิกสมาคมพัฒนาชุมชนในชุมชนซิ่งฝูที่ตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียง รวมถึงความมุ่งมั่นในการบูรณะซ่อมแซมและการอนุรักษ์ของเทศบาลกรุงไทเป โดยรมว. หลี่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะผลงานวรรณกรรมที่หลากหลายต่อไป ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ที่มีความสนใจต่อวรรณกรรมร่วมดื่มด่ำไปกับผลงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ อีกทั้งยังเป็นการระดมความคิดสร้างสรรค์แบบข้ามวงการ เชื่อว่าวรรณกรรมไต้หวันจะสามารถบังเกิดผลงานที่ดีเยี่ยมมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

 

MOC แถลงว่า หอพักทั้ง 7 อาคารถูกสรรค์สร้างให้เป็นหอวรรณกรรมไต้หวัน ด้วยการกำหนดจุดยืนและปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทุกแง่มุมของวรรณกรรมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ประกอบด้วย “อาคารฉีตง” เป็นอาคารที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร ภายใต้หัวข้อ “ไม่ยอมเลือนหายไป : จากอาคารหอพักแบบญี่ปุ่นพัฒนามาเป็นหอวรรณกรรม” โดยได้นำเสนอให้เห็นถึงทุกขั้นตอนแห่งการอนุรักษ์ไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมเก่าแก่ “อาคารแห่งการรักการอ่าน” ได้ถูกเนรมิตให้เป็นบ้านนิทานที่ครบครันที่สุดในกรุงไทเป เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามาศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมจากหนังสือภาพที่มีให้เลือกสรรหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังส่งเสริมให้สาธารณชนเข้าร่วมรับฟังนิทาน และร่วมแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตจริงกันได้ ณ พื้นที่แห่งนี้

 

นอกจากนี้ นิทรรศการพิเศษภายใต้หัวข้อ “สวัสดีวัย 20 ปี : ร่องรอยแห่งวันวานของนักเขียน” ที่จัดขึ้นใน “พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ” ก็นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของหอวรรณกรรมแห่งนี้ โดยภายในนิทรรศการ ได้ฉายภาพย้อนรำลึกสภาพแวดล้อมด้านการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมตลอดร้อยปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ในวัยอายุ 20 ปีของผู้คนแต่ละยุคสมัยให้ได้เป็นที่ประจักษ์ “The Muse Garden” ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชน และเป็นหอพักที่ให้บริการแก่บรรดานักเขียนในการเก็บตัวสรรค์สร้างผลงานได้อย่างเสรี โดยนายหยางซวงจื่อ นักเขียนหน้าใหม่ได้สัมผัสกับประสบการณ์การเข้าพักในสถานที่แห่งนี้เป็นรายแรก นอกจากนี้ ก็ยังมี “ศาลาวรรณกรรม” ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและเสวนาในหัวข้อพิเศษของสหพันธ์สมาคมวรรณกรรมทั่วประเทศ อีกทั้งยังมี “สตูดิโอสร้างสรรค์ผลงาน” ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่หลากหลายแบบข้ามวงการ