ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบตามแนวชายแดนช่วงเทศกาลตรุษจีน ป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF หลุดรอดเข้าสู่ไต้หวัน
2021-01-20
New Southbound Policy。ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF แถลงว่า เทศกาลตรุษจีนใกล้เวียนมาถึง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งวางแผนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรค ASF ภายในประเทศ (ภาพจากกรมสุขอนามัยและการตรวจกักกันพืชและสัตว์)
ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF แถลงว่า เทศกาลตรุษจีนใกล้เวียนมาถึง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งวางแผนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรค ASF ภายในประเทศ (ภาพจากกรมสุขอนามัยและการตรวจกักกันพืชและสัตว์)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF ของไต้หวัน เน้นย้ำว่า เพื่อรับมือผู้โดยสารจำนวนมากที่เดินทางเข้า – ออกประเทศในช่วงระหว่างวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน และการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และสินค้าเกษตร หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ชายแดนได้เร่งวางแผนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

♦ กรมศุลกากรกับกรมสุขอนามัยและตรวจกักกันพืชและสัตว์ (BAPHIQ) จะเร่งยกระดับมาตรการตรวจสอบพัสดุและสินค้า EMS ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานหลุดรอดเข้าสู่ภายในประเทศได้

♦ ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF ได้เรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากประเทศที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค ASF หรือผลิตภัณฑ์ที่ระบุแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ภายใต้บริบทแห่งสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรุนแรง
-------------------------------------------
ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วันที่ 19 ม.ค. 64

 

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever, ASF) ของไต้หวัน ได้จัดการประชุมครั้งที่ 17 ขึ้น โดยมีนายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตร ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ดังกล่าวได้เชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อร่วมอภิปรายหารือแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การป้องกันโรค ASF ในระหว่างเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้

 

นายเฉินฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2018 เป็นต้นมา จีนแผ่นดินใหญ่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ASF ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง มิหนำซ้ำ ในปี 2020 ยังเกิดการแพร่ระบาดของโรค ASF ขึ้นในอีกหลายประเทศ อาทิ กรีซ ปาปัวนิวกินี อินเดีย และเยอรมนี โดยศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF แถลงว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2018 ตราบจนปัจจุบัน กรณีการตรวจพบเชื้อไวรัส ASF จากผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรในบริเวณพื้นที่แถบชายแดนที่มาจากจีน มีจำนวน 200 กรณี และที่มาจากเวียดนามมีจำนวน 60 กรณี

 

ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF เน้นย้ำว่า เพื่อรับมือผู้โดยสารจำนวนมากที่เดินทางเข้า – ออกประเทศในช่วงระหว่างวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน และการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และสินค้าเกษตร หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ชายแดนได้เร่งวางแผนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF แถลงว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่ไต้หวันในปี 2020 มีจำนวนลดน้อยลง แต่การตรวจพบพัสดุสินค้าที่ละเมิดกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเนื้อสุกร กลับมิได้ลดลงตามจำนวนผู้โดยสารขาเข้าแต่อย่างใด สาเหตุหนึ่งอาจมาจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 ทำให้บรรดาผู้บริโภคแห่ซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยกรมศุลกากรกับกรมสุขอนามัยและตรวจกักกันพืชและสัตว์ (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine, BAPHIQ) จะเร่งยกระดับมาตรการตรวจสอบพัสดุและสินค้า EMS ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานหลุดรอดเข้าสู่ภายในประเทศได้

 

ทั้งนี้ ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรค ASF ได้เรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากประเทศที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค ASF หรือผลิตภัณฑ์ที่ระบุแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ภายใต้บริบทแห่งสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรุนแรง หากได้รับพัสดุที่บรรจุเนื้อสัตว์ที่มีส่วนผสมของเนื้อสุกรที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาที่ชัดเจน สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน BAPHIQ ให้มารับพัสดุดังกล่าว หรือนำส่งพัสดุไปยังสำนักงานย่อยที่อยู่ละแวกบ้านหรือหน่วยงานด้านการป้องกันโรคระบาดสัตว์เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้องต่อไป