สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ในการประกาศดัชนีสุขภาพส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไต้หวันถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น
♦ การที่ไต้หวันได้รับคะแนนในระดับสูงเป็นเพราะมีระบบประกันสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคลังข้อมูลโรคมะเร็ง และมีเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับสุดยอด แต่ยังต้องมีการปรับปรุงในส่วนของการยื่นขอจดทะเบียนยาใหม่และด้านความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินประกันสุขภาพ
♦ การจัดตั้งดัชนีสุขภาพส่วนบุคคลขึ้น เพื่อจะตรวจวัดพื้นฐานของความมั่นคงด้านการแพทย์ส่วนบุคคล ความสมบูรณ์ของกฎหมาย และผลสำเร็จในการดำเนินการของแต่ละประเทศ
-------------------------------------------
สำนักข่าว CNA วันที่ 31 ม.ค. 64 สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
ในการประกาศดัชนีสุขภาพส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไต้หวันถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การที่ไต้หวันได้รับคะแนนในระดับสูงเป็นเพราะมีระบบประกันสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคลังข้อมูลโรคมะเร็ง และมีเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับสุดยอด แต่ยังต้องมีการปรับปรุงในส่วนของการยื่นขอจดทะเบียนยาใหม่และด้านความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินประกันสุขภาพ
เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้จัดงานสัมมนาด้านการสร้างระบบดูแลสุขภาพส่วนบุคคลแบบยั่งยืนยาวนาน (Building long term sustainable and personalised healthcare systems) ที่สิงคโปร์ พร้อมทั้งได้มีการประกาศดัชนีสุขภาพส่วนบุคคล (Personalised-health-index, PHC Index) เป็นครั้งแรกของเอเชียแปซิฟิก โดยมีสถาบันวิจัยอนาคตแห่งโคเปนเฮเกน (Copenhagen Institute for Future Studies ) พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ 15 ราย ร่วมกันทำการวิเคราะห์ด้านความพร้อมของระบบสุขภาพส่วนบุคคลใน 11 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จากผลการศึกษาพบว่า ไต้หวันได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 3 ออสเตรเลีย อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 ในขณะที่จีนอยู่อันดับที่ 3 จากท้ายสุด
โดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวแทนของไต้หวันในครั้งนี้ คือ ศ.เกาฉุนซิ่ว อดีตผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบยา (Center for Drug EvaLuation,Taiwan) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์พิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัยสาขาวิชาเภสัชกรรมคลีนิค คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยไต้หวันแห่งชาติ ซึ่งศ.เกาฯ กล่าวว่า การจัดตั้งดัชนีสุขภาพส่วนบุคคลขึ้น เพื่อจะตรวจวัดพื้นฐานของความมั่นคงด้านการแพทย์ส่วนบุคคล ความสมบูรณ์ของกฎหมาย และผลสำเร็จในการดำเนินการของแต่ละประเทศ
โดยดัชนีชี้วัดจะคิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ ด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านบริการ ด้านเทคนิค และด้านนโยบาย รวมทั้งหมด 27 รายการ ซึ่งไต้หวันได้คะแนนรวมสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก
ศ.เกาฉุนซิ่วชี้ว่า สาเหตุที่ไต้หวันได้รับคะแนนสูง เพราะมีประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านคลังข้อมูลของระบบประกันสุขภาพ คลังข้อมูลโรคมะเร็ง และแพลตฟอร์มข้อมูลการทดลองทางคลีนิค เป็นต้น ถือเป็นพื้นฐานทางข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านสุขภาพ ที่เป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาต่อยอด อีกทั้งความยอดเยี่ยมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่อยู่ในระดับโลก ก็ถือเป็นผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ช่วยให้วงการการแพทย์ในไต้หวันสามารถเจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี ศ.เกาฉุนซิ่วก็เสริมว่า คะแนนของไต้หวันยังไม่ถือว่าสมบูรณ์แบบ เพราะยังต้องปรับปรุงด้านการจดทะเบียนยาใหม่และเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งในด้านความรวดเร็วในการเบิกจ่ายของกองทุนประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ ดัชนีสุขภาพส่วนบุคคลได้แบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งได้มีการประกาศผลการจัดอันดับของ 34 ประเทศในยุโรปไปแล้วเมื่อปี 2020 สำหรับภูมิภาคอื่นจะมีการประกาศในปี 2021 โดย 11 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และจีน