ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การคลอดแบบนุ่มนวลในไต้หวัน ก้าวสู่ความเป็นแดนสวรรค์ ของสตรีมีครรภ์
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-02-22

พี่สาวของคุณเหลียงฮั่นซินได้บันทึกวิดีโอขั้นตอนการคลอดของเธอเอาไว้แล้วนำมาทำเป็นภาพยนตร์สั้น มียอดวิวเกือบ 700,000 ครั้ง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจการคลอดแบบนุ่มนวล

พี่สาวของคุณเหลียงฮั่นซินได้บันทึกวิดีโอขั้นตอนการคลอดของเธอเอาไว้แล้วนำมาทำเป็นภาพยนตร์สั้น มียอดวิวเกือบ 700,000 ครั้ง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจการคลอดแบบนุ่มนวล
 

คุณเคยพูดคุยกับคุณแม่หรือคนในครอบครัวบ้างไหมว่า ตัวเองเกิดมาบนโลกใบนี้ได้อย่างไร? ตั้งแต่เล็กจนโต เราได้รับการสั่งสอนว่า “วันเกิด” ของเรา คือ “วันแห่งความเจ็บปวด” ของคุณแม่ เพราะการคลอดลูกเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณแม่จริงๆ และถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลกก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี นอกจากความเจ็บปวดทางร่างกายแล้ว เรายังสามารถจินตนาการสิ่งที่เกี่ยวกับการคลอดบุตรได้มากกว่านี้หรือไม่?

 

“การคลอดแบบนุ่มนวล” คืออะไรกันแน่? หลายคนคิดว่าก็คือการคลอดที่บ้านหรือการคลอดในน้ำแต่แท้ที่จริงแล้วการคลอดแบบนุ่มนวลคือการมองเรื่องการคลอดบุตรว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการทางสรีรวิทยากายวิภาคที่เป็นธรรมชาติของผู้หญิงไม่ใช่โรคภัยที่ต้องทำการรักษาแต่ทว่าเป็นวิธีการคลอดบุตรที่พิจารณาจากเจตจำนงความต้องการและสภาพร่างกายของสตรีที่ตั้งครรภ์เป็นหลัก

ในยุโรป ญี่ปุ่น  นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมการคลอดแบบนุ่มนวล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน การคลอดธรรมชาติจะเป็นหน้าที่ของผดุงครรภ์ ส่วนสูตินรีแพทย์จะทำคลอดกรณีที่มีภาวะครรภ์ผิดปกติเท่านั้น  สตรีมีครรภ์ประมาณร้อยละ 70-80 สามารถคลอดธรรมชาติได้โดยผ่านการฝึกอบรมการเตรียมตัวเพื่อการคลอดธรรมชาติ และมีเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างๆ จัดเป็นการคลอดที่ผนวกรวมการแพทย์แผนปัจจุบันกับธรรมชาติบำบัด โดยมีท่าคลอดให้เลือกมากมาย อาทิ ท่านั่งยอง ท่าคุกเข่า ท่านอนหงายชันเข่า และการคลอดในน้ำ เป็นต้น ส่วนการช่วยพยุงครรภ์และลดอาการเจ็บครรภ์ขณะคลอดก็มีหลากหลายวิธี อาทิ การใช้ลูกบอลให้กำเนิด (Birthing Ball) การนวดอุ้งเชิงกราน  การฝังเข็มสุคนธบำบัดโยคะและการทำสมาธิเป็นต้น

เมื่อเราหันกลับมาดูสภาพการณ์ด้านสูตินรีเวชกรรมในไต้หวันจะพบว่า ในอดีตการคลอดบุตรของสตรีไต้หวันอาศัยเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์เป็นหลัก แต่ต่อมา การแพทย์ตะวันตกแพร่หลายมากขึ้น ประกอบกับในปีค.ศ.1983 รัฐบาลได้ประกาศคำสั่งกระทรวง กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์จะต้องทำคลอดในโรงพยาบาลและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์ ซึ่งถือเป็นการปิดฉากรูปแบบการแบ่งหน้าที่ระหว่างผดุงครรภ์กับสูตินรีแพทย์โดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงระหว่างปีค.ศ.1991-1999 ภาควิชาการผดุงครรภ์ก็เคยถูกยกเลิกไป ส่งผลให้การศึกษาวิชาผดุงครรภ์ขาดช่วง จากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ปัจจุบันการคลอดบุตรในไต้หวันกลายเป็นภาระหน้าที่ของสูตินรีแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ จากการที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดว่า “เจ็บป่วยก็ต้องรักษา” และต้องการประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานทางการแพทย์ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย หญิงมีครรภ์ต้องคลอดในท่านอนหงาย มัดเครื่องวัดอัตราการเต้นหัวใจทารกในครรภ์ไว้ที่ท้องแม่ การเจาะถุงน้ำคร่ำ ฉีดยาเร่งคลอดหรือลดอาการเจ็บครรภ์คลอด  โกนขนเพชร สวนลำไส้ ตัดฝีเย็บ ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ งดอาหารและน้ำ เป็นต้น หากยังคลอดไม่ได้ก็จะใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งเรียกกันว่า เจ็บสองต่อ (suffering twice) นั่นเอง

 

การคลอดบุตรคือการทำงานแบบทีมเวิร์ก

สำหรับวงการแพทย์หรือบรรดาครอบครัวของสตรีมีครรภ์แล้ว แพทย์หญิงเฉินอวี้ผิง (陳鈺萍) เป็นสูตินรีแพทย์ที่ไม่มีใครเหมือน หลังจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยการแพทย์เกาสง (Kaohsiung Medical University) เธอเคยทำหน้าที่แพทย์ประจำบ้านแผนกสูตินรีเวชที่โรงพยาบาลแมคเคย์เมมโมเรียล (Mackay Memorial Hospital) แต่เพราะต้องดูแลลูกจึงหันหลังให้กับอาชีพแพทย์ กลายเป็นแม่บ้านอย่างเต็มตัวนานถึง 8 ปี  ในช่วงเวลาดังกล่าว เธอได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม มหาวิทยาลัยหยางหมิง (National Yang Ming University) ก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องการรักษาพยาบาลจากมุมมองแบบมนุษยนิยม (Humanistic) ซึ่งเสมือนเป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการคลอดแบบนุ่มนวลที่เธอได้พยายามผลักดันในเวลาต่อมา

Moni’s Classroom ที่พญ.เฉินอวี้ผิงจัดตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2016 แฝงตัวอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยอันสงบเงียบ มีทีมสหสาขาวิชาเฉพาะทางระดับแนวหน้า อาทิ สูตินรีแพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ แพทย์แผนจีน และผู้เชี่ยวชาญด้านสุคนธบำบัด เป็นต้น บริการให้คำปรึกษาและจัดอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับสตรีมีครรภ์และครอบครัว โดยเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมทั้งการแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน ตลอดจนการให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด ซึ่งรวมถึงการดูแลสุขภาพของคุณแม่ การให้นมลูกน้อย การนวดกดจุด และสิ่งที่คุณพ่อต้องรู้ก่อนเข้าห้องคลอดพร้อมกับคุณแม่

คุณเกาเจียไต้ (高嘉黛) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานกล่าวว่า “หากมีเพียงแพทย์เท่านั้นที่ต้องการผลักดันเรื่องนี้ แต่พยาบาลซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบช่วงระหว่างรอคลอดไม่ยินดีทำ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็ต้องกลับเข้าสู่รูปแบบการดูแลแบบปกติทั่วไปอยู่ดี ซึ่งก็เหมือนกับทำไปแค่ครึ่งเดียว ยิ่งหากเป็นผดุงครรภ์ที่คิดอยากจะผลักดันเรื่องนี้ แต่แพทย์ไม่เห็นด้วย ก็ยิ่งไม่ต้องพูดต่อเลย และทางโรงพยาบาลแทบไม่เห็นความสำคัญของผดุงครรภ์เลยก็ว่าได้” ก็เหมือนกับที่พญ.เฉินอวี้ผิงเคยกล่าวไว้ว่า “การรักษาพยาบาลคือการทำงานแบบทีมเวิร์ก”

 

คำพูดจากใจของคุณแม่และครอบครัว

พญ.เฉินอวี้ผิงอธิบายว่า สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่เคยชินกับความคิดที่ถือว่า การตั้งครรภ์เป็น “โรค” ชนิดหนึ่ง และเป็น “ผู้ป่วย” ที่ต้องเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ พญ.เฉิน อวี้ผิงเล่าว่า “การเปลี่ยนมาทำการคลอดแบบนุ่มนวล สำหรับตัวฉันเองแล้ว มันคือการเรียนรู้ที่จะเอามือของตัวเองไปไขว้ไว้ข้างหลัง”

คุณอวี๋ก้วนฟ่ง (俞冠鳳) ซึ่งให้พญ.เฉินอวี้ผิงช่วยทำคลอดลูกคนที่ 2 เธอจึงมีประสบการณ์การคลอดทั้ง 2 แบบ คือคลอดแบบธรรมดา กับการคลอดแบบนุ่มนวล ในการให้กำเนิดบุตรสาวคนโตเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เธอใช้วิธีคลอดแบบธรรมชาติและไม่ฉีดยาลดอาการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งก็ต้องผ่านประสบการณ์ถูก “ตัดฝีเย็บ” เหมือนกับหญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่  ในการคลอดลูกคนที่ 2  เธอเลือกวิธีการคลอดแบบนุ่มนวลซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว “ถ้าหากว่าคลอดแค่ครั้งเดียว ฉันคิดเองว่า ก็ไม่เลวนะ แต่ในเมื่อถูกตัดไปครั้งหนึ่งแล้ว มันเหมือนมีแผลอยู่ในใจ แต่ลูกคนที่ 2 พอคลอดแล้ว ร่างกายไม่มีบาดแผลเลย คลอดตอนแปดโมงเช้า บ่ายสองก็กลับบ้านได้ แม้แต่ค่าใช้จ่ายในการคลอดแบบธรรมชาติที่ประกันสุขภาพจ่ายให้ 3 วัน ก็ไม่ต้องใช้เลยด้วยซ้ำไป”  คุณอวี๋ก้วนฟ่งเล่าความหลังอย่างเบิกบาน และแถมท้ายอีกว่า “ในตอนนั้นรู้สึกว่ามันช่างมหัศจรรย์อะไรอย่างงี้ ทำให้อยากจะมีลูกอีกสักคนเลยล่ะ”

การคลอดแบบนุ่มนวลทำให้คุณแม่ ลูกน้อย รวมไปจนถึงทั้งครอบครัว มีความรู้สึกรักและผูกพันต่อกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคุณแม่ส่วนใหญ่ คุณเลี่ยวเพ่ยเฉิน (廖沛晨) ซึ่งเป็นคุณครูกล่าวว่า “หากต้องการจะคลอดแบบนุ่มนวล จำเป็นต้องมีดรีมทีมนะ เพราะนี่เป็นเรื่องของคนทั้งครอบครัว” แน่นอน การถือกำเนิดขึ้นมาของสมาชิกคนใหม่คือเรื่องของคนทั้งครอบครัว จะเลือกวิธีคลอดแบบไหนดี? มีผลกระทบต่อคุณแม่และลูกน้อยยังไงบ้าง? ต้องเตรียมตัวก่อนคลอดยังไง? ซึ่งเรื่องนี้นอกจากตัวคุณแม่เองต้องเข้าร่วมและทำความเข้าใจแล้ว คนในครอบครัวก็ไม่ควรจะทำตัวเป็นแค่ผู้อยู่วงนอกเท่านั้น

ส่วนคุณแม่อีกคนหนึ่งซึ่งก็คือคุณเหลียงฮั่นซิน (梁瀚心) กล่าวว่า “อย่างน้อยก็ต้องมีสามีคนหนึ่งล่ะ ที่ควรเข้าไปในห้องคลอดด้วย” เธอเล่าประสบการณ์การคลอดของตนเองว่า เพื่อลดอาการเจ็บครรภ์คลอด ระหว่างที่รอคลอด ทุกๆ 10 นาที สามีของเธอต้องคอยนวดอุ้งเชิงกรานให้ครั้งละ 30 นาที “เขาบอกว่า หลังจากฉันคลอดแล้ว เขาคงผอมลงแน่ๆ” และเธอยังเปิดเผยว่า “ฉันรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เลือกคลอดด้วยวิธีนี้ เป็นประสบการณ์ที่งดงาม สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเหนียวแน่นขึ้น ในช่วงระหว่างการทำคลอดก็เปรียบเสมือนเป็นการปูพื้นฐานให้กับบทบาทของคุณพ่อ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การส่งหญิงมีครรภ์เข้าไปให้ห้องทำคลอดเพียงลำพัง ส่วนคุณพ่อจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้อุ้มลูกน้อย แล้วเขาจึงรู้สึกตัวว่าได้กลายเป็นพ่อคนแล้ว”

อู๋เมิ่งเชี่ยน (吳孟蒨) กับอวี๋จั๋วฉี (余卓祺) คือคุณพ่อคุณแม่ที่คนหนึ่งเป็นชาวฮ่องกง อีกคนหนึ่งเป็นชาวไต้หวัน นับตั้งแต่ที่คุณอู๋เมิ่งเชี่ยนเดินทางกลับมารอคลอดที่ไต้หวัน คุณอวี๋จั๋วฉีก็เริ่มเรียนรู้หลักสูตรที่เกี่ยวข้องผ่านวิดีโอคอล เขาเล่าว่า “ลูกสาวของผมคลอดออกมาโดยมีถุงน้ำคร่ำหุ้มไว้ ถ้าเป็นการคลอดแบบทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเพื่อจะเร่งให้คลอดเร็วๆ ก็จะเจาะถุงน้ำคร่ำ ได้ยินว่าที่ไอร์แลนด์ นี่คือสัญลักษณ์ของความโชคดีนะ” และเนื่องจากระหว่างทำคลอดไม่มีการใช้ยาจึงไม่มีผลข้างเคียงใดๆเกิดขึ้นทารกที่คลอดออกมานอกจากจะรู้สึกตัวดีแล้วสภาพร่างกายก็ยังแข็งแรงดีอีกด้วยคุณแม่เองก็จะฟื้นตัวได้เร็วมากสามารถให้คุณแม่และลูกน้อยพักอยู่ห้องเดียวกันได้อีกทั้งการให้นมแม่และดูแลลูกน้อยด้วยตัวเองก็เป็นไปอย่างราบรื่น

พญ.เฉินอวี้ผิงชอบหยิบยกเอาการปีนภูเขาสูงมาใช้เปรียบเทียบกับการคลอดบุตร “ก็เหมือนกับการพิชิตยอดเขาอวี้ซาน คุณสามารถเลือกที่จะนั่งรถขึ้นไปหรือให้คนอื่นแบกคุณขึ้นไป แต่ถ้าคุณปีนขึ้นไปด้วยตัวเอง มันจะให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน” ความทรงจำอันตราตรึงแห่งชีวิตที่เป็นหนึ่งไม่มีสองจะช่วยเสริมสร้างสายใยแห่งความรักและผูกพันของคนในครอบครัวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และจะเคียงข้างครอบครัวให้ก้าวไปสู่ช่วงต่อไปบนเส้นทางชีวิต

 

ใส่ใจรายละเอียด ลื่นไหลตามสถานการณ์

พญ.เฉินอวี้ผิงกล่าวว่า “ระหว่างคลอดอาจเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นได้มากมายในชั่วพริบตา แพทย์ควรใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ แต่เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีบุคลากรและทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลเอาใจใส่สตรีมีครรภ์เป็นรายบุคคล ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกตัดทอนให้สะดวกและง่ายขึ้น” ยกตัวอย่างเช่น “การกดท้อง” มักได้ยินกันบ่อยๆ ว่าพยาบาลในโรงพยาบาลใช้วิธีกระโดดขึ้นไปคร่อมบนลำตัวของหญิงมีครรภ์แล้วกดท้องเพื่อเร่งให้คลอดเร็วขึ้น ข่าวลือในทำนองนี้ทำให้สตรีมีครรภ์หวาดกลัว แต่หากเป็นการทำคลอดโดยพญ.เฉินอวี้ผิง จะอาศัยช่วงระหว่างที่มดลูกมีการหดรัดตัว แล้วออกแรงดันบริเวณที่เป็นก้นทารกเพื่อช่วยผลักให้ทารกสามารถเคลื่อนผ่านปากมดลูกออกสู่โลกภายนอก มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอไปช่วยหญิงมีครรภ์ดันท้อง ผู้เป็นสามีสอบถามภรรยาหลังจากคลอดลูกแล้วว่า “เมื่อกี้คุณหมอดันท้องเธอแบบนั้น ไม่เจ็บเหรอ?” ผู้เป็นภรรยากลับตอบว่า “เมื่อกี้คุณหมอแค่ลูบเบาๆ ไม่ใช่เหรอ” แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย หรือแม้แต่เรื่องของการตัดฝีเย็บ ซึ่งแพทย์มักให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันฝีเย็บฉีกขาด แต่แท้ที่จริงแล้วหากอดทนรอให้ปากมดลูกบางตัวลงและลื่นขึ้น ทารกจะคลอดออกมาได้เองตามธรรมชาติ ไม่ถึงกับเกิดการฉีกขาดอย่างรุนแรง และไม่มีความจำเป็นต้องตัดฝีเย็บด้วยซ้ำไป

ไม่เพียงเท่านั้น พญ.เฉินอวี้ผิงยังเล่าว่า “ระหว่างที่มดลูกหดรัดตัวจะมีฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกหรือฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเอน
ดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารภายในร่างกายมนุษย์ที่หลั่งออกมาเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้วย เพียงแค่บริหารจัดการให้สอดรับกับกลไกภายในร่างกาย นอกจากหญิงมีครรภ์จะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องทุกข์ทรมานแล้ว แต่ยังกลับจะมีความรู้สึกราวกับว่ากำลังวิ่งอัลตรามาราธอนสุดโหดและเตรียมตัวที่จะรับความรู้สึกสุดฟินในวินาทีสุดท้าย ยังไงก็ยังงั้นเลยทีเดียว”

การคลอดแบบนุ่มนวลถือเป็นเรื่องของสิทธิสตรี มารื้อฟื้นศักดิ์ศรีแห่งร่างกายสตรีกันเถิด

 

คุณแม่ในท้องถิ่นลุกขึ้นมา

นอกจาก Moni’s Classroom ที่เป็นต้นแบบของการคลอดแบบนุ่มนวลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีคุณสวีซูฮุ่ย (徐書慧) ผู้ประกอบการร้านกาแฟที่ได้จัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กการคลอดแบบนุ่มนวลที่ชื่อว่า The Gentlest Encounter—Gentle Birth คุณเฉินอวี้ชิง (陳育青) และคุณซูอวี้ถิง (蘇鈺婷) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้ร่วมกันถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Happy Birthday (2016) และคุณเฉินสูถิง (諶淑婷) ผู้สื่อข่าว ได้เขียนบทความเรื่อง Welcoming Gentle Birth ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคุณแม่ที่มาจากวงการการศึกษา การแพทย์ และอื่นๆ ที่ต่างใช้กำลังและศักยภาพของตนเองมาช่วยนำเสนอและส่งเสริมการคลอดแบบนุ่มนวล โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งไต้หวันจะกลายเป็นดินแดนสวรรค์ของสตรีมีครรภ์และครอบครัว