ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กลุ่มดาวเทียม FORMOSAT-7 เข้าสู่วงโคจรครบทั้งหมดแล้ว
2021-02-09
New Southbound Policy。กลุ่มดาวเทียม FORMOSAT-7 เข้าสู่วงโคจรครบทั้งหมดแล้ว (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
กลุ่มดาวเทียม FORMOSAT-7 เข้าสู่วงโคจรครบทั้งหมดแล้ว (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดาวเทียม 6 ดวงของกลุ่มดาวเทียม FORMOSAT-7 ได้เข้าสู่วงโคจรที่ความสูงระดับ 540-550 กม. เรียบร้อยแล้ว

♦ โครงการดาวเทียม FORMOSAT-7 ถือเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีมานี้

♦ ในแต่ละวัน FORMOSAT-7 จะจัดส่งข้อมูลการวิเคราะห์สภาพอากาศในแนวดิ่งประมาณ 4,000 จุด ระหว่างเส้นละติจูดที่ 50 องศาเหนือ ถึง 50 องศาใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับการพยากรณ์อากาศทั่วโลก

♦ ข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียม FORMOSAT-7 ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยนอกจากจะช่วยลดความเบี่ยงเบนของการพยากรณ์อากาศโดยรวมได้ร้อยละ 10-11 แล้ว ยังสามารถพยากรณ์การเกิดพายุไต้ฝุ่นได้ล่วงหน้า และช่วยปรับปรุงการพยากรณ์เส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่น และยังมีส่วนช่วยในการสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอวกาศอีกด้วย
-------------------------------------------
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  วันที่ 8 ก.พ. 64
 
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดาวเทียม 6 ดวงของกลุ่มดาวเทียม FORMOSAT-7 ได้เข้าสู่วงโคจรที่ความสูงระดับ 540-550 กม. เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ กลุ่มดาวเทียมที่กระจายตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศและไอโอโนสเฟียส์ จะสามารถส่งข้อมูลจากการสังเกตสภาพอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศและการเฝ้าสังเกตสภาพอวกาศต่างๆ  โดยกลุ่มดาวเทียม FORMOSAT-7 ได้ถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่ตั้งอยู่ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2019 และขณะนี้ต่างก็เคลื่อนเข้าสู่วงโคจรของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้ โครงการดาวเทียม FORMOSAT-7 ถือเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีมานี้ โดยมีหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) คือ ศูนย์อวกาศแห่งชาติ (National Space Organization, NSPO) ของสถาบันวิจัยและทดลองแห่งชาติ และ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration, NOAA) ของสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมกัน โดยในแต่ละวัน FORMOSAT-7 จะจัดส่งข้อมูลการวิเคราะห์สภาพอากาศในแนวดิ่งประมาณ 4,000 จุด ระหว่างเส้นละติจูดที่ 50 องศาเหนือ ถึง 50 องศาใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับการพยากรณ์อากาศทั่วโลก
 
ปัจจุบันนี้ มีศูนย์พยากรณ์อากาศและหน่วยงานวิจัยสภาพอากาศทั่วโลกหลายแห่งที่ใช้ข้อมูลจาก FORMOSAT-7 ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง NSPO และกรมอุตุนิยมวิทยาของไต้หวัน ทีมงานจากมหาวิทยาลัยจงยาง (NCU) และมหาวิทยาลัยเฉิงกง (NCKU) รวมถึงทีมวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของ NOAA และมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาสภาพอากาศ (University Corporation for Atmospheric Research, UCAR) ของสหรัฐฯ ทำให้ข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียม FORMOSAT-7 ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยนอกจากจะช่วยลดความเบี่ยงเบนของการพยากรณ์อากาศโดยรวมได้ร้อยละ 10-11 แล้ว ยังสามารถพยากรณ์การเกิดพายุไต้ฝุ่นได้ล่วงหน้า และช่วยปรับปรุงการพยากรณ์เส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่น และยังมีส่วนช่วยในการสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอวกาศอีกด้วย