ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
จังหวะดนตรีที่สอดคล้องกับชีพจรแผ่นดิน วงดนตรี Sheng-Xiang & Band
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-04-12

หลินเซิงเสียง

 

หลินเซิงเสียง (林生祥) นักดนตรีที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ในวงการดนตรีไต้หวัน เขามีความสนใจต่อการเกษตร แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีบนพื้นฐานดนตรีดั้งเดิมของไต้หวันประสานกับร็อกตะวันตก ผสมกลมกลืนได้อย่างน่าฟัง

นอกจากได้รับรางวัล Golden Melody Awards และ Indie Music Awards แล้ว ตั้งแต่ปีค.ศ.2001 หลินเซิงเสียงเคยตระเวนแสดงในเอเชีย ยุโรป อเมริกา เป็นต้น รวม 10 กว่าประเทศ ในปีค.ศ.2005 เพลงร็อกสไตล์ลูกทุ่งไต้หวันของเขาสร้างความสั่นสะเทือนในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี คือ TFF-Rudolstadt (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Rudolstadt Festival) เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอย่างมาก หม่าซื่อฟัง (馬世芳) นักจัดรายการวิทยุยกย่องว่า “หลินเซิงเสียงเป็นนักดนตรีร่วมสมัยที่ยอดเยี่ยมที่สุดในใจฉัน”

 

ในปีค.ศ.2014 มีการจัดคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 15 ปีของอัลบั้มชุด Let Us Sing Mountain Songs ต่อมา ในปีค.ศ.2017 ก็เป็นคอนเสิร์ตครบรอบ 15 ปีของอัลบั้มชุด The Night March of the Chrysanthemums ปีค.ศ.2018 ในคอนเสิร์ตครบรอบ 20 ปีที่หลินเซิงเสียงเข้าสู่วงการเพลง เพื่อนๆ หลายคนได้ขึ้นเวทีร่วมประชันเสียงเพลงอย่างคับคั่งเป็นประวัติการณ์ ส่วนคอนเสิร์ตครบรอบ 15 ปีของอัลบั้ม Getting Dark กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ สำหรับอัลบั้มเพลงชุดใหม่ที่วางตลาดไปแล้ว คือ Water Snowflake Goes to Market  ก็เป็นเพลงแนะนำอาหารฮากกา ทำเอาคนฟังท้องหิวไปตามๆ กัน

นักดนตรีไต้หวันน้อยคนนักที่จะทำสถิติได้ดั่งเช่นหลินเซิงเสียงที่ออกอัลบั้มแต่ละชุดล้วนแต่ไม่ธรรมดา ทุกเพลงจัดเต็มสุดๆ ทิ้งห่างนักสร้างสรรค์ผลงานเพลงรุ่นเดียวกันหลายช่วงตัว

 

ลูกจีนฮากกา อวดเสียงเพลงจากถิ่นกำเนิด

หลินเซิงเสียง เกิดที่เขตเหม่ยหนง (美濃) นครเกาสง ถือเป็นลูกเกษตรกรเต็มตัว ในปีค.ศ.1998 หลินเซิงเสียงได้กลับไปที่บ้านเกิดเพื่อร่วมประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนเหม่หนง ก่อนจะร่วมมือกับวงดนตรี Labor Exchange Band ทำการบันทึกเสียงในสภาพอัตคัดขัดสนในโรงบ่มยาสูบ สร้างผลงานอัลบั้ม 2 ชุด คือ Let Us Sing Mountain Songs และ The Night March of the Chrysanthemums ซึ่งถือเป็นต้นแบบผลงานเพลงเพื่อการรณรงค์ทางสังคมในไต้หวัน

หลินเซิงเสียงร่วมงานกับกลุ่มศิลปินที่หลากหลาย เริ่มจาก Kuan-tsu Music Pit ตามด้วย Labor Exchange Band และ Water 3 ปัจจุบันคือ Sheng-Xiang & Band มีสมาชิก 7 คน ประกอบด้วย หลินเซิงเสียง เป็นนักร้องนำและมือพิณวงเดือน จงหย่งฟง (鍾永豐) นักประพันธ์บทเพลงที่ประทับใจผู้คนนับไม่ถ้วน เคน โอทาเกะ (大竹研) ที่ร่วมมือกันยาวนานเป็นมือกีตาร์ โทรุ ฮายาคาวา (早川徹) ผู้มีพื้นฐานดนตรีแจ๊สที่ลึกล้ำเป็นมือเบส ในปีค.ศ.2013 อเล็กซ์ วู (吳政軍) รับหน้าที่เป็นมือเพอร์คัชชัน เข้าร่วมวงในอัลบั้ม I-Village ต่อมาในปี 2016 ภายใต้แนวความคิดอัลบั้มคู่ Village Besieged จึงมีการเพิ่มสมาชิกอีก 2 คน คือโนริอะกิ ฟูกูชิมะ (福島紀明) เป็นมือกลอง และหวงป๋ออวี้ (黃博裕) มือปี่ กล่าวได้ว่า Sheng-xiang & Band สมบูรณ์แบบในการสร้างสรรค์จินตนาการทางดนตรี

ปีค.ศ.1993 หลินเซิงเสียงได้รับอิทธิพลจากนักร้องเพลงฮกเกี้ยนหน้าใหม่ เช่น เฉินหมิงจาง (陳明章) เป็นต้น จึงหันมาร้องเพลงฮากกา หลินเซิงเสียงบอกว่า “ผมตระหนักดีว่า คุณค่าทางศิลปะในการร้องเพลงฮากกา ซึ่งเป็นเพลงภาษาแม่ สูงกว่าเพลงภาษาจีนกลาง จึงต้องสร้างผลงานดีเลิศ จะไม่สร้างงานชั้นรอง ทำให้มีความมั่นคงแน่วแน่ มุ่งเน้นเดินบนเส้นทางเพลงฮากกา”

Let Us Sing Mountain Songs เป็นอัลบั้มเพลงที่บันทึกการรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนเหม่ยหนง เป็นเพลงปลุกใจเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับมวลชนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง ที่สำคัญคือต้องการให้ผู้ร่วมชุมนุมร้องคลอไปด้วย เพลงแรกในอัลบั้ม ปลุกใจชาวบ้านจากเหม่ยหนงซึ่งไปประท้วงที่ไทเปว่าไม่ต้องหวาดกลัว เมื่อผู้อยู่บนเวทีร้องนำ “พวกเรามาร่วมร้องเพลงภูเขากัน” ผู้ที่อยู่ด้านล่างของเวทีก็ขับร้องสอดรับประสานเสียง ทำให้จิตใจฮึกเหิม อีกตัวอย่างหนึ่งคือ อัลบั้ม The Night March of the Chrysanthemums บรรยายเรื่องของเยาวชนในชนบทที่ไปทำงานในเมืองแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องกลับมาบ้านปลูกดอกเบญจมาศ และได้จินตนาการตนเองว่าเป็นผู้บัญชาการทหารรวมพลดอกเบญจมาศตั้งแถวตรงต่อหน้า จากนั้นทำการขานชื่อ การร้องเพลงนี้ในเวทีคอนเสิร์ต เมื่อเสียงดนตรีช่วงต้นเริ่มขึ้น ผู้ชมที่ด้านล่างของเวทีจะรู้สึกสนุกสนาน ทำตัวเองให้กลายเป็นดอกเบญจมาศยืนตรงขานรับว่า “อยู่ อยู่” หลินเซิงเสียงขานชื่อบนเวทีการแสดงในยามค่ำ ด้านล่างของเวทีก็มีส่วนร่วมขานตอบ ผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง นี่คือเสียงร้องของประชาชนที่ร้องเพลงของตัวเอง

 

เสียงเพลงของบ้านเกิด ความรู้สึกแปลกใหม่แต่คุ้นเคย

ในยุคของวงดนตรี Labor Exchange Band หลินเซิงเสียงได้นำเอาดนตรีดั้งเดิมของจีนคือ ปี่ พิณวงเดือน ฆ้อง กลอง ผสานในเพลงที่เขาสร้างสรรค์ “ในยุคของ Labor Exchange Band ผมเห็นว่า เพลงของผมจะต้องเชื่อมโยงดนตรีแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน หวังว่าชาวบ้านในชนบทฟังเพลงของผมแล้ว จะมีความรู้สึกว่าแม้เป็นเพลงสมัยใหม่ แต่ก็รู้สึกมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชีวิตของพวกเขา”

แม้หลินเซิงเสียงจะหันมาฝึกพิณวงเดือน แต่เขาชื่นชมต่อเสียงปี่เป็นอย่างมาก เขากล่าวว่า “เสียงของปี่เหมือนกับเสียงเพรียกร้อง” เสียงที่แหลมคมของปี่จะปรากฏอยู่ในชีวิตชาวฮากกา ทั้งในงานแต่ง พิธีศพ การเฉลิมฉลองต่างๆ จึงเชื่อมโยงไปยังความทรงจำในช่วงชีวิตที่สำคัญได้

มีเพลงหนึ่งที่ชาวไต้หวันฟังแล้วก็จะต้องพากันโบกมือ หัวเราะ โยกหัวด้วยความมัน นั่นก็คือเพลง Ah-Kim Runs for Mayor ในอัลบั้ม I-Village ทำนองเพลงเริ่มจากกีต้าร์ไฟฟ้าเสียงสูงเร็วพลิ้ว ตามด้วยเสียงประทัดดังเปรี้ยงป้าง จากนั้นหลินเซิงเสียงและจงหย่งฟงพูดปากเปล่าเลียนแบบการปราศรัยหาเสียง ที่มีเสียงคีย์บอร์ดที่โศกเศร้าและเร้าใจสลับไปมา ชาวไต้หวันได้ยินแล้วจะนึกถึงบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งในทันที การปราศรัยหาเสียงแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน ในขณะแสดงคอนเสิร์ต หลินเซิงเสียงจะร้องนำชักชวนผู้ชมให้ตะโกน “ชนะแน่ ชนะแน่” ทำให้บรรยากาศร้อนแรงสุดขีด

 

ปกิณกะชีวิต

เริ่มจากยุควงดนตรี Labor Exchange จงหย่งฟง ประพันธ์คำร้อง หลินเซิงเสียง ประพันธ์ทำนอง การร่วมมือระดับเยี่ยมยอดแบบนี้ได้สร้างผลงานอันยอดเยี่ยมได้มากมาย ปลายปากกาของจงหย่งฟงบางครั้งเสมือนเป็นกล้องส่องทางไกลนำพาเราไปสู่โลกาภิวัตน์ การควบคุมของกลไกอำนาจรัฐ บางครั้งโฟกัสดูเรื่องราวคนธรรมดาที่หมดแรงในสังคม ดังเช่น ในเพลง My Old 125-cc Motorcycle ที่บรรยายถึงหนุ่มที่จากบ้านเกิดไปแสวงโชค ก่อนจะต้องกลับบ้านเกิดด้วยความละอายใจ “เจ้าที่ เจ้าที่ ลูกก้มหน้าขอโทษ โปรดเถิด โปรดเถิด ปิดโคมไฟทั้งหมดบนท้องถนน โปรดอย่าถาม ทำไมต้องกลับบ้าน” ภาพนักแสดงที่ขี่มอเตอร์ไซค์โกโรโกโสอยู่บนท้องถนน ประกอบกับเสียงขับร้องอันโหยหวนของหลินเซิงเสียง แม้ฟังภาษาฮากกาไม่ออก ก็ยังเรียกน้ำตาให้คลอเบ้าได้

หลินเซิงเสียงบอกว่า “หลักการพื้นฐานในการทำดนตรีของผมคือ หากดนตรีชักนำภาพความรู้สึกหรือฉากความรู้สึกไม่ได้ ถือเป็นผลงานที่ล้มเหลว” ยกตัวอย่างในเพลง Planting Trees  “ปลูกให้หนอนรอดชีวิต ปลูกให้นกอาศัยยามค่ำ ปลูกให้แสงอาทิตย์ทอดเงาเต้นรำ” เพลงนี้เป็นเรื่องราวของชาวบ้านคนหนึ่ง เมื่อไต้ฝุ่นผ่านไป จะไปเก็บต้นไม้ที่ล้มลง และยังช่วยปลูกต้นไม้ในหมู่บ้าน บทกวีของเนื้อเพลงสร้างจินตนาการอันเพริดแพร้ว

ทีมงานไปสัมภาษณ์หลินเซิงเสียงที่บ้าน ก่อนออกเดินทาง เขาได้ส่งข้อความมาว่า บ้านของเขาไม่ปรากฏบนแผนที่ของกูเกิล (Google Map) เขาบอกพวกเราว่าให้มองหากระจกเงาและสวนมะละกอ พวกเราลัดเลาะไปตามทางที่หลินเซิงเสียงบอก เมื่อไปถึงบ้านเขา บรรยากาศเหมือนในเพลง I-Village  ที่บรรยายไว้ “ฝั่งตะวันออกมีสวนผลไม้เต็มภูเขา ฝั่งตะวันตกบรรพบุรุษหลับใหลในสุสาน ทางเหนือภูเขาสูงลมเย็นโชย ทางใต้ติดคลองชลประทานนาข้าวเขียวขจี” ขอบเขตหมู่บ้าน 4 ทิศ บรรยายความเป็นอยู่ใน 4 ฤดูอย่างมีชีวิตชีวา เพลงของหลินเซิงเสียงบันทึกเรื่องราวชีวิตรอบด้าน

 

การสื่อสารร่วมสมัย

ปีค.ศ.2019 ในฮ่องกงเกิดการประท้วงคัดค้านกฎหมายส่งตัวผู้ต้องหาไปจีน หลินเซิงเสียงได้ไปแสดงคอนเสิร์ตที่ฮ่องกงในเดือนธันวาคม เขาบอกว่า “ฮ่องกงอยู่ในสภาพที่วุ่นวาย พวกเรารู้สึกว่าในยามนี้จะต้องร้องเพลงให้ชาวฮ่องกงฟังบ้าง” ในปีค.ศ.2002 วงดนตรี Labor Exchange ได้รับรางวัล Golden Melody Awards ครั้งที่ 13 ประเภทวงดนตรียอดเยี่ยม หลินเซิงเสียงขึ้นบนเวทีกล่าวว่า “ถ้าหาก Labor Exchange Band เป็นไมโครโฟนตัวหนึ่ง พวกเราจะส่งเสียงไปยังเกษตรกร แรงงาน พวกเราอยากจะบอกเรื่องราวที่ได้เห็นได้ยินต่อสังคม” คำพูดนี้ทำให้รู้ว่าเขายืนอยู่เคียงข้างใคร

อัลบั้ม I-Village  ในปีค.ศ.2013 สะท้อนสภาพความเป็นจริงของหมู่บ้านเกษตรกรสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน ต่อมา ในปีค.ศ.2016 อัลบั้มเพลงแนวพังก์ ในชุด Village Besieged ได้ปลุกกระแสต่อต้านมลภาวะทางอากาศ ซึ่งถือว่าเกี่ยวพันกับผู้คนทั่วไต้หวัน มีคนบอกว่าเหม่ยหนงอากาศดี หลินเซิงเสียงใช้นิ้วกวาดดูแอปพลิเคชันในมือถือ ดูดัชนีมลภาวะอากาศ PM 2.5 และ PM 10 “หากความเข้มข้นฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในระดับสูง ที่เหม่ยหนงจะมองไม่เห็นเทือกเขาแนวกลาง เมื่อถึงช่วงพลบค่ำ ลมจากชายฝั่งทะเลพัดมาทางภูเขา คุณภาพอากาศจะเลวร้ายจนถึงขั้นไปออกกำลังกายกลางแจ้งไม่ได้ นี่คือสิ่งที่สะท้อนอยู่ใน Village Besieged”

 

ยืนหยัดบนเส้นทางสายดนตรี

มีอยู่ครั้งหนึ่งในขณะที่หลินเซิงเสียงแสดงอยู่บนเวที เกิดอาการขยับนิ้วไม่ได้ “ในวันนั้น ผมรู้สึกเสียใจมาก เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกท้อแท้ มีความกังวลว่าชีวิตนักดนตรีกำลังจะขาดสะบั้นลง” หลินเซิงเสียงคิดต่อไปว่า เขาพร้อมที่จะปลดเกษียณตนเองหรือยัง พูดมาถึงตรงนี้พวกเรารู้สึกเหมือนมีหมอกดำปกคลุมอยู่บนศีรษะ หลินเซิงเสียงเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาในทันที พูดถึงความคิดใหม่ๆ ที่ต้องการทำในอัลบั้มใหม่ ในระหว่างการสัมภาษณ์พูดถึงเรื่องอดีต หลินเซิงเสียงกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ แต่พูดถึงตอนนี้ เขาขจัดปมในใจออกไปจนรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมา สีหน้าท่าทางสดใส โทนเสียงสูงขึ้นเหมือนเด็กกำลังดีใจ “ถ้ามีวันหนึ่งร้องเพลงบนเวทีไม่ไหวแล้ว ผมจะไปอยู่หลังฉากก็ได้ แค่ได้เรียกนักดนตรีออกมาบันทึกเสียง ผมก็รู้สึกดีใจมากแล้ว” “แต่ว่าถ้าผมยังเห็นไอดอลของผมยังทำงานอยู่ในวัย 70 ปี ผมจะต้องพยายามไล่หลังให้ทันก้าวเดินของพวกเขา”

“ผมรู้สึกมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุดในขณะร้องเพลงแสดงคอนเสิร์ต ผมหวังว่า เมื่อแก่ขึ้น ยังคงมีคนต้องการฟังเพลงของผม ก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น” หลินเซิงเสียงพูดด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข.