ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.ต่างประเทศไต้หวันและรองผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ร่วมพูดคุยกันผ่านระบบออนไลน์
2021-04-19
New Southbound Policy。รมช.ต่างประเทศไต้หวันและรองผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ร่วมพูดคุยกันผ่านระบบออนไลน์ (ภาพจาก MOFA)
รมช.ต่างประเทศไต้หวันและรองผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ร่วมพูดคุยกันผ่านระบบออนไลน์ (ภาพจาก MOFA)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 เม.ย. 64


นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Ms.Sandra Oudkirk รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมรูปแบบออนไลน์ว่าด้วย “ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก” (U.S.-Taiwan Partnership in the Pacific Islands) ที่จัดโดย “มูลนิธิเฮอริเทจ” (Heritage Foundation) ซึ่งเป็นคลังสมองของสหรัฐฯ  โดยได้ร่วมหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด – 19 แก่ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
 

รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันพร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยคณะทำงานด้านการป้องกันชายฝั่งทะเลระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันชายฝั่งทะเลร่วมกับประเทศพันธมิตรในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ ไต้หวันยังยินดีที่จะขานรับวิสัยทัศน์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยจะให้ความช่วยเหลือประเทศพันธมิตรในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่าน “โครงการพลังงานสะอาด” และ “โครงการสินเชื่อ” อีกทั้งจะให้คำชี้แนะในการดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน รมช.เถียนฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันและสหรัฐฯ ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านประชาธิปไตย ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) และบนพื้นฐานที่มีอยู่เดิม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่มีอยู่เดิมในเชิงลึกต่อไป

 

Ms. Oudkirk กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศแก้ไข “ข้อบังคับในการติดต่อกับไต้หวัน” โดยข้อบังคับใหม่นี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายสร้างปฏฺิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายให้เป็นไปอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านกลไกต่างๆ อาทิ กรอบความร่วมมือ GCTF และการประชุมเสวนาหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Dialogue) พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานด้านการป้องกันชายฝั่งทะเล เสริมสร้างความร่วมมือด้านภารกิจทางทะเลในภูมิภาค นอกจากนี้ Ms. Oudkirk ยังได้ให้การยอมรับในผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาด “รูปแบบไต้หวัน” พร้อมแสดงความคาดหวังที่จะเห็นแผน “ทราเวลบับเบิลระหว่างไต้หวัน-ปาเลา” ก้าวสู่การเป็นต้นแบบแห่งการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพื่อให้นานาประเทศนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป 

 

โดยการประชุมครั้งนี้มี Mr. Walter Lohman ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา (Asian Studies Center) มูลนิธิเฮอริเทจ เป็นประธานการประชุม ซึ่งบรรดาผู้แทนถาวรของสาธารณรัฐนาอูรู สาธารณรัฐปาเลา และตูวาลูประจำสหประชาชาติ (UN) เอกอัครราชทูตหมู่เกาะมาร์แชลล์ประจำสหรัฐฯ และเอกอัครราชทูตไต้หวันประจำประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ต่างตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย (ยกเว้นปาเลา เนื่องจากปาเลาได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้)