สำนักข่าว CNA วันที่ 20 เม.ย. 64
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders, RSF) ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส แถลงว่า จากการสำรวจเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อทั่วโลกทั้ง 180 ประเทศ พบว่ามี 3 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมดที่สื่อได้รับการจำกัดเสรีภาพ โดยดัชนีเสรีภาพสื่อของไต้หวันในปีนี้ อยู่อันดับที่ 43 ซึ่งยังคงรักษาอันดับเดิมของปีที่แล้วไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง
สำนักข่าวเอเอฟพี (Agence France-Presse) รายงานว่า จากรายงานการสำรวจ “ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Index) ของ RSF พบว่า มีสื่อกว่า 73 ประเทศที่ประสบกับ “การปิดกั้นในทุกช่องทางและได้รับอุปสรรคนานาประการในการเผยแพร่ข่าวสาร” และมี 59 ประเทศที่สื่อถูก “จำกัด” อีกทั้งยังมีอีกหลายประเทศที่สื่อถูกชักใยและควบคุม ภายใต้ข้ออ้างในประเด็นว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)
จากรายการสำรวจที่ถูกนำออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ RSF ระบุว่า ในปีนี้ไต้หวันยังคงสามารถรักษาอันดับเดิมไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เป็นผลอันเนื่องมาจากที่สื่อต่างๆ ในไต้หวันแทบจะไม่ได้รับการแทรกแซงจากรัฐบาล ประกอบกับไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมด้านสื่อประชาสัมพันธ์ของไต้หวันมีการแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน โดยมีสาเหตุมาจากการถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ และต้องการดึงดูดให้ผู้คนสนใจเข้าชม
RSF ยังระบุว่า รัฐบาลจีนใช้ช่องโหว่ดังกล่าว กดดันผู้ประกอบการสื่อบางส่วนของไต้หวัน เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้มีผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกับจีน ประกอบกับรัฐบาลปักกิ่งดูเหมือนจะเป็นผู้บงการการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จเกี่ยวกับไต้หวันผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้รัฐบาลไต้หวันอาจต้องใช้มาตรการตอบโต้ภัยคุกคามดังกล่าว อาทิ การปฏิเสธการอนุมัติวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าวจีนที่แฝงเจตนาร้าย
จากรายงานการจัดอันดับของ RSF ในปีนี้ จะเห็นได้ว่า จีน เกาหลีเหนือ เติร์กเมนิสถาน และอีกหลายประเทศ ต่างถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อย่ำแย่ที่สุด
RSF แถลงเพิ่มเติมว่า เมื่อปีที่แล้ว เสรีภาพสื่อโลกยังคงรักษาเสถียรภาพไว้ได้ แต่หากเทียบกับการสำรวจครั้งแรกในปี 2013 จะพบว่า ดัชนีภาพรวมตกต่ำลงกว่าร้อยละ 12 ทั้งนี้ เป็นผลอันเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากการเมืองสองขั้ว และการเผยแพร่ข่าวปลอมบนโลกไซเบอร์ ส่งผลให้ความไว้วางใจที่สาธารณชนมีต่อผู้สื่อข่าวลดลงตามไปด้วย