ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 22 เม.ย. 64
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการออกแบบเพื่อสังคม ปี 2021 : แผนโซลูชันด้านการอนุรักษ์โลกอย่างยั่งยืน” (Sustainability - The solutions for our Earth : 2021 Social Design Action Forum ) พร้อมกันนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมว่า ไต้หวันกำลังเร่งวางแนวทางความเป็นไปได้เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันอย่างต่อเนื่องแล้ว หน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ อาทิอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง ที่พักอาศัยและการเกษตร ก็จำเป็นที่จะต้องยื่นเสนอแนวทางการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นได้ว่าทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่กระแสคลื่นลูกใหม่ในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มจากสหภาพยุโรป (EU) ที่เมื่อช่วงปลายปี 2019 EU ได้นำเสนอนโยบาย The European Green Deal โดยได้ประกาศชัดว่า ภายในปี 2050 จะต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ซึ่งก็คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ต่างได้กำหนดเป้าหมายระยะเวลาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไต้หวันก็ได้มีส่วนร่วมในประเด็นสำคัญนี้ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้จัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อว่าในภายภาคหน้า สหรัฐฯ จะก้าวสู่บทบาทสำคัญระดับโลกในประเด็นการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อชะลอความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการลดอัตราการเกิดภัยพิบัติ ขณะเดียวกัน การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังถือเป็นปัจจัยแห่งการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ผู้ใดที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและจัดตั้งรูปแบบใหม่ได้ก่อน ผู้นั้นก็สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำสถานการณ์ใหม่ของโลกได้
ปธน.ไช่ฯ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้การระดมกำลังของสภาบริหาร รัฐบาลไต้หวันได้ทำการประเมินและวางแผนแนวทางความเป็นไปได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันอย่างต่อเนื่องแล้ว หน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง ที่พักอาศัยและการเกษตร ก็จำเป็นที่จะต้องยื่นเสนอแนวทางการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มใจที่สื่อมวลชน ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในประเทศ ร่วมผนึกกำลังกันจัด “การประชุมว่าด้วยการออกแบบเพื่อสังคม ปี 2021” อีกทั้งยังได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (American Institute in Taiwan, AIT) ขยายการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนวัตกรรมระหว่างประเทศ โดยภายในงานครั้งนี้ Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) ก็ได้ให้เกียรติเดินทางมาเข้าร่วมด้วย