ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ซีรีส์ไต้หวัน “โก” อินเตอร์ PTS ผู้สร้างดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ให้วงการทีวี
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-04-26

อวี๋เป้ยหัว ผู้จัดการฝ่ายรายการของ PTS เชื่อว่า หน้าที่และความรับผิดชอบของ PTS คือความกล้าที่จะลองถ่ายทำละครหลายๆ แนว เพราะจะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถแสดงศักยภาพของละครโทรทัศน์ไต้หวันให้เป็นที่ประจักษ์ได้ (ภาพ: จวงคุนหรู)

อวี๋เป้ยหัว ผู้จัดการฝ่ายรายการของ PTS เชื่อว่า หน้าที่และความรับผิดชอบของ PTS คือความกล้าที่จะลองถ่ายทำละครหลายๆ แนว เพราะจะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถแสดงศักยภาพของละครโทรทัศน์ไต้หวันให้เป็นที่ประจักษ์ได้ (ภาพ: จวงคุนหรู)
 

ละครโทรทัศน์เรื่อง On Children หรือ 你的孩子不是你的孩子 (หนี่เตอะไหจึปู๋ซื่อหนี่เตอะไหจึ – ลูกของคุณไม่ใช่ลูกคุณ) ถือเป็นละครโทรทัศน์เรื่องแรกของไต้หวันที่ออกฉายผ่านทาง Netflix ไปพร้อมกับการออกอากาศในไต้หวัน ซึ่งตั้งแต่เริ่มออกฉายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2018 จนถึงปัจจุบัน ก็ได้รับกระแสตอบรับและเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก

โดยละครโทรทัศน์เรื่องนี้ได้สะท้อนถึงปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ระบบการศึกษา มุมมองของคุณค่าทางสังคม ซึ่งในการดำเนินเรื่องได้มีการแฝงรูปแบบของนิยายวิทยาศาสตร์ไว้ในบทด้วย แน่นอนว่าความตั้งใจและทุ่มเทในการถ่ายทำละครเรื่องนี้ของ PTS ทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของวงการละครโทรทัศน์ไต้หวันด้วย

 

On Children ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของอู๋เสี่ยวเล่อ (吳曉樂) โดยหยิบยกเอาประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ส่วนตัว มาเขียนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ค่อยๆ บิดเบี้ยวไปเนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับการสอบเข้าเรียนต่อในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ PTS (Public Television Service) ได้เริ่มแผนการถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2015 โดยวางตัวละครเอกเป็นติวเตอร์ส่วนตัว ซึ่งทำหน้าที่ในการดำเนินเรื่องและเชื่อมโยงครอบครัวแต่ละครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกับใส่องค์ประกอบของเรื่องราวแห่งความรักเข้ามาช่วย เพื่อใช้ความหวานอันโรแมนติกมาห่อหุ้มความขมขื่นและเผ็ดร้อนของปัญหาอันหนักหน่วงในแวดวงการศึกษา เดิมทีละครโทรทัศน์เรื่องนี้มีแผนจะเริ่มออกอากาศในปี 2016 แต่ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ผู้กำกับเฉินฮุ่ยหลิง (陳慧翎) ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง มีอาการกำเริบขึ้น

 

เริ่มต้นใหม่พร้อมเป้าหมายที่จะลุยตลาดต่างประเทศ

หากทำการถ่ายทำไปตามบทที่เขียนเอาไว้เดิม บางทีอาจจะสามารถปรับแต่งจนทำให้ปัญหาที่คอยทิ่มแทงสังคมนี้ กลายเป็นบทละครซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกๆ คน แต่มันก็อาจจะทำให้ขาดซึ่งพลังที่สะท้อนออกมาอย่างเต็มที่ของนวนิยายที่เป็นต้นฉบับ

ในช่วงระหว่างการทำคีโมเพื่อรักษาตัว เฉินฮุ่ยหลิงถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “หากว่านี่เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายที่จะได้ถ่ายทำ เราจะเล่าเรื่องราวในแบบไหน?” ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่ Netflix เริ่มเข้าสู่ตลาดไต้หวันพอดี PTS จึงเล็งเห็นถึงความต้องการ Content ที่หลากหลายของแพลตฟอร์มนานาชาติแห่งนี้ อวี๋เป้ยหัว (於蓓華) ผู้จัดการฝ่ายรายการของ PTS ชี้ว่า “ละครของเราน่าดูมาก มีคุณภาพพอที่จะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับอินเตอร์ ไม่แพ้ละครของต่างชาติที่มีอยู่มากมาย และจะมีผู้ชมที่อยากชมคอยติดตามแน่ๆ” ดังนั้น โครงการถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่อง On Children ที่เริ่มต้นขึ้นใหม่ จึงมีเป้าหมายที่ค่อนข้างเด่นชัด “เพื่อจะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับนานาชาติ และทำให้ทั่วโลกได้ชมละครโทรทัศน์ของไต้หวัน”

ทลายกรอบเดิมๆ ของละครไอดอล ด้วยการหยิบเอาเรื่องราวของพ่อแม่ลูกมาเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมใส่องค์ประกอบแบบหนังไซไฟเข้าไป ก่อนจะถ่ายทำออกมาเป็นละครซีรีส์แบบจบในตอนจำนวน 5 ชุด รวมทั้งหมด 10 ตอน คือ รีโมทคอนโทรลของคุณแม่ (Mothers Remote), ลูกของแมว (Child of the Cat), วันสุดท้ายของมอลลี่ (The Last Day of Molly), นกยูง (Peacock), และจำต้องสมาธิสั้น (ADHD is Necessary)

เมื่อพิจารณาถึงความต้องการด้านคุณภาพของแพลตฟอร์มระดับนานาชาติ ในการถ่ายทำจึงยกระดับของภาพจากแบบ HD เป็น 4K แน่นอนว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำก็ต้องยกระดับให้สูงขึ้น คุณภาพของการตกแต่งฉากและสถานที่ในการถ่ายทำก็เป็นไปอย่างพิถีพิถัน โทนสีของละครทั้ง 5 ชุด และการตกแต่งบ้านของแต่ละครอบครัวก็มีความแตกต่างและสอดคล้องกับบรรยากาศตามบท องค์ประกอบในด้านไซไฟทุกฉากก็เน้นความสมจริง

ตัวอย่างเช่น ในตอน “วันสุดท้ายของมอลลี่” ที่คุณแม่ของ
มอลลี่ไปยังห้องทดลองของลูกชายเพื่อนที่กำลังทำการวิจัยด้านสมอง แล้วนั่งลงบนเก้าอี้ทดลองพร้อมใส่หมวกเซ็นเซอร์เพื่อเข้าไปดูความทรงจำของลูกสาวที่เสียชีวิต สภาพบรรยากาศของห้องทดลองถูกทีมงานสร้างขึ้นมาทุกอย่าง อวี๋เป้ยหัวอธิบายว่า ถ้าสร้างฉากที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกแบบไฮเทค แต่ใช้หมวกเซ็นเซอร์ที่ทำจากโฟมหรือใช้หมวกกันน็อคมาทำ ก็คงจะเป็นอะไรที่น่าขบขันไม่น้อย และจะทำให้คนดูไม่รู้สึกคล้อยตาม

ฉากที่ดูสมจริงบวกกับความยอดเยี่ยมของบท ทำให้มีความมั่นใจอย่างเต็มที่เมื่อต้องก้าวขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มระดับนานาชาติ และหลังจากที่ Netflix ได้ชม Trailer ซึ่งมีความยาวเพียง 17 นาทีของละครเรื่องนี้ที่ PTS ส่งไปให้แล้ว ก็ตัดสินใจที่จะให้ออกฉายบนแพลตฟอร์มไปพร้อมๆ กับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไต้หวันทันที

 

จุดประเด็น จนสร้างกระแสทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนการออกอากาศจริง Netflix ได้ทำหนังตัวอย่างความยาว 3 นาทีของ On Children ไปโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยได้ตัดเอาภาพของเหล่าคุณแม่ทั้งหลายที่พร่ำสอนลูกๆ เกี่ยวกับการเรียนพร้อมกับความคาดหวังอย่างแรงกล้า สลับกับภาพของเด็กๆ ที่ร้องไห้หรือร้องตะโกนเพื่อแสดงการต่อต้าน โดยใช้ดนตรีประกอบที่ค่อนข้างเร็ว บรรยากาศอันเร่งเร้าสามารถสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้เข้าชมจนถึงปัจจุบันมากถึง 1.6 ล้านครั้งแล้ว ถือเป็นตัวเลขที่มากกว่าคลิปอื่นของทางเพจ ที่มียอดผู้เข้าชมเฉลี่ยประมาณหลักหมื่นเท่านั้น

ความแพร่หลายของแพลตฟอร์มมัลติมีเดียออนไลน์ ทำให้ละครโทรทัศน์ของ PTS สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดด้านพรมแดนของประเทศ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก โดยนับจนถึงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ละครเรื่อง On Children ยังคงถือเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในตลาดญี่ปุ่น ชาวเน็ตหลายคนใช้คำว่า “พ่อแม่จอมโหดจากนรก” มาบรรยายถึงความรู้สึกในแบบเดียวกันของตัวเอง ซึ่งเว็บไซต์ Decider ของ New York Post สื่อดังของสหรัฐฯก็แสดงความชื่นชมต่อซีรีส์เรื่องนี้แถมยังแนะนำต่อผู้อ่านด้วยว่าเป็นละครที่ไม่ควรพลาด

PTS ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนสาธารณะของประเทศ จึงตั้งเป้าหมายในการจัดทำรายการให้ “หยิบยกประเด็นสำคัญมาวิเคราะห์และอธิบาย” ด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม แต่จุดยืนก็ไม่อาจจะเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากนัก ดังนั้น ตลอดช่วงระยะเวลาในการทำงาน ตั้งแต่การวางแผนถ่ายทำไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ ทีมงานของละครเรื่อง On Children ต่างก็รำลึกถึงคำเตือนของอู๋เสี่ยวเล่อไว้ตลอดว่า “อย่าทำให้พ่อแม่กลายเป็นมารร้าย”

ในซีรีส์เรื่องนี้ เราจึงไม่เพียงแต่จะได้เห็นภาพของเด็กๆ ที่ได้รับแรงกดดันจากพ่อแม่อยู่ฝ่ายเดียว หากแต่ในละครเราจะสัมผัสได้ถึงความกดดันและปัจจัยภายนอกที่รายล้อม ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างไรด้วย ซึ่งอวี๋เพ่ยหัวเห็นว่า “มันไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ และไม่ใช่เป็นเพราะระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น หากในวันนี้ ทุกคนยังไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ถึงจะแก้ไขระบบกี่ครั้งก็ไม่มีประโยชน์ และแม้จะทำการปฏิรูปการศึกษาจนไม่ต้องมีการคิดคะแนน ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะเรายังคงคิดมันอยู่ภายในใจของเราเอง” 

จากการที่เคยมีเด็กมัธยมของสหรัฐฯ ฆ่าตัวตายเลียนแบบตามซีรีส์เรื่องหนึ่ง ทำให้ PTS กำหนดให้มีตัวละครที่เป็นเด็กออกมาพูดสิ่งที่สร้างความรู้สึกอบอุ่นในทุกๆ ตอน เช่น “ความรักคือความห่วงใย การกอด ให้ความเคารพ ไม่ใช่การทำร้ายกัน วันนี้คุณบอกรักแล้วหรือยัง?” พร้อมทั้งมีนักจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวมาให้คำพูดคุยในช่วงท้ายเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา พ่อแม่ลูก หรือการข่มขู่ทางอารมณ์ เป็นต้น เพื่อเตือนให้ผู้ชมทราบว่า จะแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้อย่างไร หากต้องตกอยู่ภายในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

 

พัฒนาความหลากหลายให้ละครไต้หวัน

เมื่อเรามองไปยังซีรีส์ระดับนานาชาติแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ในขณะที่ละครของไต้หวันจะจำกัดอยู่แต่เพียงการนำเสนอเรื่องราวของปัญหาในครอบครัวและละครไอดอล และเมื่อประเภทของละครมีอยู่เพียงแนวเดียว ก็ยากที่จะยกระดับคุณภาพทางวัฒนธรรมของผู้ชมให้สูงขึ้น แน่นอนว่านอกจากการพิจารณาทางการตลาดแล้ว PTS ยังต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายทำละครในแนวอื่นเพื่อเพิ่มความหลากหลายของละครด้วย

ตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง Green Door ที่เข้าฉายในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ถือเป็นละครแนวสยองขวัญเรื่องแรกของ PTS ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของจิ่วเซ่อฟู (九色夫) นักเขียนชื่อดังของไต้หวัน ซึ่งมีเซียวจิ้งเถิง (蕭敬騰) นักร้องชื่อดังมาแสดงนำ โดยรับบทเป็นจิตแพทย์ที่คอยให้คำปรึกษากับเหล่าดวงวิญญาณ ทำให้คนไข้ที่มารับการรักษามีความแปลกประหลาดอันหลากหลายเป็นอย่างมาก บางคนเป็นสาวงามซึ่งไม่รู้ว่าตัวเองถูกวิญญาณของนักเลงมาเข้าสิงหรือเป็นโรคหลายบุคลิกกันแน่ บางคนก็เป็นดวงวิญญาณของเด็กมัธยมสาวที่อยู่ในกระจกซึ่งจะเสียชีวิตในอีก 30 ปีข้างหน้าเป็นต้นตัวละครต่างๆพาให้เราไปสัมผัสกับสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในภายในใจและสะท้อนให้เห็นถึงความโหยหาความสุขและความรู้สึกมั่นคงในชีวิตของมนุษย์เรา

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ No Outsiders ซึ่งเริ่มต้นจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่หยิบยกเอาความรู้สึกภายในใจของฆาตกรและครอบครัวของเหยื่อที่ถูกสังหารที่ดึงให้สื่อมวลชนเข้ามาพัวพันเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งของประเด็นด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนอันถือเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

นอกจากนี้ ในปี 2017 สถานีโทรทัศน์ PTS ได้เริ่มโครงการ “PTS Originals” เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้เสนอโปรเจคในการถ่ายทำละครได้ทุกแนว ทั้งอาชญากรรม สยองขวัญ ผีและวิญญาณ ไปจนถึงไซไฟ เพื่อให้เหล่านักเล่าเรื่องทั้งหลายมีเวทีที่จะเล่าเรื่องราวของตน

การเปิดโอกาสเช่นนี้ ทำให้ PTS ได้รับข้อเสนอที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก เช่น ละครเรื่อง Samsara ที่พูดถึงเรื่องราวในปี 2020 ซึ่งมนุษย์ทุกคนบนโลกหมดสติพร้อมกันเป็นเวลา 49 วินาทีและหลังจากตื่นขึ้นมาแล้วทุกคนมองเห็นผีได้หมดลองคิดดูว่าในโลกที่คนและผีใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจะมีความวุ่นวายขนาดไหน

ละครเรื่อง Justice ถือเป็นแนวอาชญากรรมที่ไม่ค่อยมีในไต้หวัน การถ่ายทำละครแนวอาชญากรรมจะต้องมีฉากการดวลปืนและมีการใช้เทคนิคพิเศษในการแต่งภาพของกระสุนปืนให้ดูสมจริง จึงจะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้ ส่วนละครแนวสยองขวัญก็มีสิ่งที่ต้องให้ความพิถีพิถันในอีกรูปแบบหนึ่ง ความสามารถที่จำเป็นซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลังเพื่อทำให้ผลงานเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องผ่านการสะสมประสบการณ์ จึงจะทำให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น การที่ PTS ถ่ายทำละครโทรทัศน์ด้วยคุณภาพระดับการถ่ายทำภาพยนตร์ และร่วมมือกับโรงภาพยนตร์ในการจัดเทศกาลภาพยนตร์ขึ้น ก็ทำให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ในการรับชมที่ไม่เหมือนเดิม และนอกจากนำมาออกอากาศทางสถานีแล้ว PTS ยังนำละครที่มีคุณภาพดีไปร่วมเข้าฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศด้วย และได้รับกระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เช่น Upstream ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ Montreal World Film Festival ที่มอนทรีออลของแคนาดา และ Last Verse ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ Busan International Film Festival ที่เมืองปูซานของเกาหลีใต้ด้วย

ในยุคสมัยของแพลตฟอร์มสตรีมมิงออนไลน์เช่นในปัจจุบันนี้ กลุ่มคนดูไม่ถูกจำกัดด้วยเส้นพรมแดนอีกต่อไป มีเพียงแต่ความพยายามที่จะยกระดับตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งเท่านั้น จึงจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เราหวังว่า PTS จะช่วยนำความเป็นไปได้มาให้กับวงการละครโทรทัศน์ของไต้หวันให้มากขึ้น เพื่อให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงศักยภาพทางวัฒนธรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ของไต้หวันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย