ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตและเศรษฐกิจการค้าในไตรมาสแรกของปี 2021ของสนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ
2021-05-04
New Southbound Policy。ผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตและเศรษฐกิจการค้าในไตรมาสแรกของปี 2021ของสนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตและเศรษฐกิจการค้าในไตรมาสแรกของปี 2021ของสนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 พ.ค. 64

 

เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ดี สนง.ตัวแทนไต้หวันในนานาประเทศทั่วโลกยังคงผลักดันภารกิจด้านการทูตและเศรษฐกิจการค้า ผ่านวิธีการต่างๆ มากมาย ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2021 บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดมากมาย ซึ่งจะทำการชี้แจงโดยสังเขป ดังนี้

 

1. ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของไต้หวัน

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เยอรมนี สวีเดน สโลวาเกีย อินเดีย เวียดนามและอีกหลายประเทศ ต่างคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กับไต้หวัน รวมถึงจัดการประชุมในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้แจ้งความประสงค์ไปยังสนง.ตัวแทนไต้หวันประจำประเทศนั้นๆ

 

2. ประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ช่วยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างเมือง

นิทรรศการ “เมืองอัจฉริยะปี 2021” ทางสนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศได้เชิญ 62 เมืองใน 35 ประเทศ เข้ามีส่วนร่วมใน “การประชุมสุดยอดผู้นำเมืองอัจฉริยะ” (Mayor’s Summit) และ “การประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างเมืองในต่างประเทศ” (Ctalk) เป็นต้น

 

3. ร่วมลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจการค้ากับประชาคมโลก และส่งเสริมให้มีการผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการค้าโลกรูปแบบใหม่

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศได้ส่งเสริมให้มีการลงนามความตกลงและบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญๆ หลายรายการ นอกจากนี้ รัฐสภาในหลายประเทศยังได้มีการผ่านญัตติว่าด้วยเศรษฐกิจและการค้าที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน อาทิ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปผ่านญัตติ “รายงานว่าด้วยการเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างยุโรป - เอเชีย” (Connectivity and EU-Asia relations) โดยมีข้อความที่ระบุไว้ในรายงานว่า รัฐสภายุโรปให้การสนับสนุนไต้หวัน - ยุโรปเร่งลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างกัน

 

4. จับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมโลกที่สำคัญ พร้อมเร่งเสริมสร้างความร่วมมือ

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สนง.ตัวแทนไต้หวันประจำเยอรมนีและสำนักงานตัวแทนที่เกี่ยวข้อง ได้จัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางอุตสาหกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy) และรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการจับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมโลกที่สำคัญ พร้อมเร่งเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคี

 

5. ช่วยแก้ปัญหาด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศ พร้อมทั้งขยายโอกาสทางธุรกิจ

เนื่องจากจีนสั่งระงับการนำเข้าสัปปะรดจากไต้หวันกระทันหัน สนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศจึงได้เร่งทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ซึ่งได้รับความสนใจจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก โดยญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรีย ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และบรูไน ต่างทยอยสั่งซื้อสัปปะรดจากไต้หวันกันอย่างคึกคัก

 

กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กำชับให้สนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศจับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมโลกที่สำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานรูปแบบใหม่ อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าอย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศนั้นๆ ในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง แสวงหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ ตลอดจนขยายศักยภาพและบทบาทด้านเศรษฐกิจการค้าของไต้หวันให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ