กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 5 พ.ค. 64
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานของกลุ่มสตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology: MOST) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้วางแผนพัฒนาใน 4 มิติหลัก ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร กลไกองค์กร การประชาสัมพันธ์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ และการประสานความร่วมมือข้ามวงการ โดยคาดหวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่วิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นสตรี สามารถแสดงศักยภาพด้านการวิจัยออกมาได้อย่างเต็มที่
สำหรับแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม MOST เตรียมดำเนินการภายในเดือนพ.ค. ปีนี้ สำหรับสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างช่วงลาพักเพื่อเลี้ยงดูบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นประธานโครงการวิจัยทางวิชาการที่ได้รับการอนุมัติรับรอง สามารถนำเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นขอบุคลากรผู้ช่วยงานวิจัยที่ต้องการ โดยจะได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานเป็นพิเศษ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานวิจัยให้กับ MOST จะต้องยื่นเสนอโครงการวิจัยในหัวข้อพิเศษปีละครั้ง ซึ่งทางกระทรวงฯ จะพิจารณาโครงการของผู้ที่ยื่นเสนอในทันที และจะทำการคัดเลือกโครงการที่ดีที่สุดเพื่อมอบทุนอุดหนุนการวิจัยให้
MOST ได้กำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับการจัดสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติภายในประเทศที่ได้รับเงินอุดหนุน โดยได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการให้บริการรับเลี้ยงเด็กชั่วคราว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทางวิชาการได้อย่างไร้กังวล พร้อมทั้งเสริมสร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรในแวดวงวิชาการ นอกจากนี้ MOST และนิคมวิทยาศาสตร์ภายใต้การกำกับดูแล ก็ได้วางแผนจัดตั้งสถานดูแลเด็กปฐมวัยของภาครัฐ จำนวน 31 แห่ง ซึ่งสามารถเปิดรับเด็กระดับชั้นปฐมวัยได้จำนวน 809 คน ในจำนวนนี้ MOST ได้จัดให้มี 2 แห่งที่เปิดรับเฉพาะบุตรหลานที่มีอายุระหว่าง 2 – 6 ปีของพนักงาน จำนวน 50 คน คาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2021 นี้ ส่วนนิคมวิทยาศาสตร์ได้จัดตั้งห้องเรียนทั้งหมด 29 ห้อง ซึ่งสามารถรับนักเรียนได้ 759 คน คาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2022 ทั้งนี้ MOST หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตรต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานสำหรับพนักงานหญิง พร้อมผลักดันให้ก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบเพื่อส่งเสริมให้แวดวงวิชาการนำไปอ้างอิงและปฏิบัติตาม ตลอดจนร่วมสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมด้านการทำงานที่เป็นมิตรร่วมกับหน่วยงานวิชาการอื่นๆ ต่อไป
MOST แถลงว่า นอกจากมาตรการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก่อนหน้านี้ MOST ยังได้ผ่อนปรนระยะเวลาในการนำเสนอผลสำเร็จของโครงการ โดยสามารถขอเลื่อนออกไปตามจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ โดยนอกจากการให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยสำหรับเจ้าหน้าที่วิจัยหญิง ที่ห่างหายจากการดำเนินการวิจัยเป็นเวลานาน เนื่องจากการลาคลอดหรือการลาพักเพื่อดูแลครอบครัวแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่เป็นกลุ่มสตรีในแต่ละภาคส่วน MOST คาดหวังว่า การบูรณาการมาตรการสนับสนุนรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สามารถแสดงความเชี่ยวชาญ ยกระดับศักยภาพด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยีในภาพรวม โดยไม่มีการแบ่งแยกเพศสถานะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ