กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 6 พ.ค. 64
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) ออกแถลงการณ์ ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ขณะเดียวกันก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านสันติภาพและเสถียรภาพของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมแสดงจุดยืนในการไม่เห็นด้วยต่อการกระทำใดๆ ที่จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียด อีกทั้งเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค และความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎระเบียบสากล และเป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมรมว.ต่างประเทศของประเทศกลุ่มสมาชิก G7 ได้อ้างถึงไต้หวันในแถลงการณ์ของการประชุมด้วย กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แสดงความยินดีต่อเนื้อความในแถลงการณ์ พร้อมขอบคุณประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ที่ให้การยอมรับและให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่
ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และการรักษาเสถียรภาพรวมถึงความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค อีกทั้งยังยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษชน และหลักนิติธรรม เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศ G7 โดยรัฐบาลไต้หวันยินดีเป็นอย่างมากที่เห็นว่า รมว.ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมใน WHO พร้อมแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังต้องการที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับประเทศสมาชิก G7 เพื่อร่วมปกป้องสวัสดิการทางสาธารณสุขทั่วโลก และธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
แถลงการณ์ของที่ประชุมรมว.ต่างประเทศ G7 ยังระบุอีกว่า เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมโลก การสร้างหลักประกันด้านการยอมรับซึ่งกันและกัน ขององค์การระหว่างประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมาก รมว.ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 สนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในกลไกที่เกี่ยวข้องของ WHO และการประชุม WHA ซึ่งประชาคมโลกควรได้รับประโยชน์ร่วมกันจากประสบการณ์ของประเทศพันธมิตร รวมถึงการสร้างคุณประโยชน์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน นอกจากนี้ รมว.ต่างประเทศของกลุ่ม G7 ก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านสันติภาพและเสถียรภาพของสองฝั่งช่องแคบ ส่งเสริมให้ประเด็นสองฝั่งช่องแคบไต้หวันได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ตลอดจนแสดงจุดยืนการไม่เห็นด้วยต่อการกระทำใดๆ ที่จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียด อีกทั้งเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค
นี่เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมรมว.ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 ให้การยอมรับต่อความสำเร็จในการป้องกันโรคระบาด พร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO ผ่านการออกแถลงการณ์ร่วม โดยเฉพาะการที่การประชุม WHA เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในเดือนนี้ การผนึกกำลังกันระหว่างรมว.ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 ในการให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม เปี่ยมด้วยความหมายที่พิเศษยิ่ง ข้อสรุปของที่ประชุมรมว.ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 ระบุว่า ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในประชาคมโลก ต่างแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่จีนส่งเครื่องบินรบและเรือรบรุกล้ำเข้าสู่เขตแดนไต้หวัน รวมถึงพฤติกรรมการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารและการกดดันทางการเมือง
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม G7 ในปีนี้ โดยได้จัดการประชุมรมว.ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 ขึ้นที่กรุงลอดอน ในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 5 พ.ค. ที่ผ่านมา