สำนักข่าว CNA วันที่ 12 พ.ค. 64
ในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันพบกรณีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด – 19 ที่ไม่สามารถระบุแหล่งติดเชื้อได้อย่างแน่ชัด จึงทำให้แอปพลิเคชัน “ระยะห่างทางสังคมของไต้หวัน” ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นจากภาคประชาชน ซึ่งหลังจากที่ทำการดาวน์โหลดและเปิดบลูทูธแล้ว App ตัวนี้จะช่วยสแกนได้ว่าเราอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันหรือไม่ โดยหากมีผู้ป่วยยืนยันปรากฎตัวขึ้นในละแวกนั้น แอปฯ จะส่งข้อความแจ้งเตือนในทันที ทำให้ App ตัวนี้ได้รับการกล่าวขานในหมู่ชาวเน็ตว่าเป็น ยันต์ป้องกันโรคระบาดในปัจจุบัน
สถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในไต้หวัน พบว่า ได้มีการแพร่ระบาดเข้าสู่ชุมชนแล้ว ซึ่งผู้ป่วยยืนยันภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประชาชนจึงจับตาให้ความสนใจกับไทม์ไลน์ของผู้ป่วยยืนยันรายใหม่อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้แอปพลิเคชัน “ระยะห่างทางสังคมของไต้หวัน” ที่วิจัยและพัฒนาโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่เปิดตัวได้ไม่ถึงเดือน สามารถก้าวขึ้นครองอันดับ 1 ในรายการอุปกรณ์ตัวเลือก ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
โดยศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ไต้หวัน แถลงว่า แอปฯ ตัวนี้อาศัยสัญญาณบลูทูธมาใช้ในการบันทึกประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันของผู้ใช้งาน ภายในระยะเวลา 14 วัน หากในบรรดาผู้ใช้งานพบว่ามีผู้ป่วยยืนยัน และได้ทำการอัปโหลดข้อมูลลงในระบบแบบเรียลไทม์ App จะส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่เคยเข้าใกล้ผู้ป่วยยืนยันในระยะ 2 เมตร หรือมีประวัติการสัมผัสใกล้ชิด 2 นาทีขึ้นไป โดย App ตัวนี้เปิดให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดกันได้แล้วในวันนี้
หากผู้ใช้งานได้รับแจ้งว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด - 19 และยินดีให้ความร่วมมือในการอัปโหลดรหัส ID ที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ทางหน่วยงานสาธารณสุขจะส่งรหัส CAPTCHA ให้กับผู้ใช้งาน เพื่อความสะดวกในการอัปโหลดบันทึกข้อมูล ดังนั้นในกรณีที่ผู้ใช้งานไม่ได้รับรหัส CAPTCHA จากหน่วยงานสาธารณสุข จะไม่สามารถทำการประกาศแจ้งผ่านระบบได้ว่าตนเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความตื่นตระหนกที่ไม่จำเป็น
นายเฉินจื่ออวี๋ รองหัวหน้าฝ่ายข่าวพรรคสร้างรัฐไต้หวัน ระบุข้อความลงในรายงานข่าวว่า แอปพลิเคชัน “ระยะห่างทางสังคมของไต้หวัน” เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาโดยสภาบริหารไต้หวันและภาคเอกชน ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดยในเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว ทางการได้อนุญาตแจกจ่ายซอฟต์แวร์ให้แก่ประเทศที่ประสบกับวิกฤตสถานการณ์โควิด – 19 ที่รุนแรง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักการ Taiwan can help อย่างเป็นรูปธรรม
ตามรายงานข้อมูลที่ปรากฎบนเว็บไซต์สถาบันวิจัย Taiwan AI Labs ชี้ว่า App ตัวนี้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง บันทึกเพียงเฉพาะประวัติการสัมผัสใกล้ชิดของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยบันทึกจำนวนครั้งในการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสอดส่องความเสี่ยงที่แฝงตัวอยู่ โดยระบบจะทำการลบข้อมูลที่หมดอายุโดยอัตโนมัติ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน