กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 พ.ค. 64
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลกในการรับมือกับปัญหาด้านการจัดสรรอัตราการฉีด และผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารสุขและสวัสดิการไต้หวัน สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น - ไต้หวัน สำนักงานตัวแทนอังกฤษในไต้หวัน และสำนักงานตัวแทนออสเตรเลียในไต้หวัน จึงร่วมจัด “การประชุมด้านสาธารณสุขนานาชาติ ว่าด้วยประสบการณ์และความท้าทายในการแจกจ่ายวัคซีน” ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ขึ้น ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขฯ ไต้หวัน Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป และ Mr. Hiroyasu Izumi ตัวแทนสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน เข้าร่วมการประชุมพร้อมกล่าวปราศรัย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญจำนวน 135 คนจาก 36 ประเทศ รวมถึง สำนักวาติกัน ออสเตรีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็นต้น ต่างก็เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ในครั้งนี้ ทำให้ไต้หวันมีโอกาสได้เรียนรู้แนวทางการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศอื่นๆ โดยไต้หวันก็สามารถร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาด เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่นานาประเทศได้ พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงการต้อนรับเจ้าหน้าที่จากสนง.ตัวแทนอังกฤษในไต้หวัน และสนง.ตัวแทนออสเตรเลียในไต้หวัน เข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ร่วมจัดขึ้นภายใต้กรอบ GCTF อีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึง ความพยายามและศักยภาพในการรับมือกับประเด็นล่าสุดในสถานการณ์โลกของกลุ่มประเทศสมาชิกภายใต้กรอบ GCTF ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงการต้อนรับผู้บรรยายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอิสราเอล สหภาพยุโรป และแคนาดา ให้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด – 19
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า โรคระบาดไร้พรมแดน ก่อนหน้านี้ที่ไต้หวันเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคซาร์สและโรคระบาดอื่นๆ แม้ว่าจะถูก “องค์การอนามัยโลก”(WHO) กีดกันไม่ให้เข้าร่วม แต่ยังดีที่ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไต้หวันจึงสามารถก้าวผ่านอุปสรรคในครั้งที่ผ่านๆ มาได้ และทำให้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการจับมือกับประชาคมโลก เพื่อร่วมก้าวผ่านความท้าทายระดับชาติอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไต้หวันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ ไต้หวันจะมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคทางการเมือง เพื่อสร้างคุณประโยชน์ในการยกระดับความปลอดภัยทางสาธารณสุขแก่ทั่วโลกต่อไป
รมว.อู๋ฯ ยังได้ขอบคุณที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) ที่ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) นอกจากนี้ Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เรียกร้องให้ WHO เร่งส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยเร็วด้วย