กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 มิ.ย. 64
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น”(The Foreign Correspondents' Club of Japan, FCCJ) เข้าร่วมการประชุมผู้สื่อข่าวระดับนานาชาติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยรมว.อู๋ฯ ได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายรูปแบบใหม่” (The Alignment of the Taiwan-Japan Partnership in the Face of Modern Challenges) โดยสื่อต่างประเทศผลัดกันซักถามข้อสงสัย ทำให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า หลายปีมานี้ สถานการณ์โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การแข่งขันทางยุทธศาสตร์และการเผชิญหน้าระหว่างประเทศประชาธิปไตยและประเทศเผด็จการทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) รัฐบาลจีนได้ใช้สถานการณ์โรคระบาดมาบีบบังคับให้นานาประเทศยอมจำนนต่อกรอบความคิดทางการเมืองที่จีนวางไว้ รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า จีนต้องการขยายอิทธิพลทางการเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ ผ่านการส่งมอบวัคซีน เวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาด และเงินลงทุน ส่วนในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก จีนได้ใช้สงครามลูกผสม (Hybrid Warfare) ด้วยการวางกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ และแสนยานุภาพทางการทหาร ในการขยายอิทธิพลและเจาะเข้าสู่แวดวงต่างๆ
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นประเทศแนวหน้าที่รับมือกับการขยายอิทธิพลของจีน ภารกิจในด้านการปกป้องประเทศของไต้หวัน นอกจากจะต้องปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเองแล้ว ยังต้องปกป้องค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในการควบคุมของอำนาจเผด็จการ รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ไต้หวันในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความสามารถในการสร้างคุณประโยชน์ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่สืบต่อไป
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ความสามัคคีและความร่วมมือกัน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการรับมือกับภัยคุกคามจากอำนาจเผด็จการ ไต้หวันขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผย ในการเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้าร่วม นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHO ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม อนึ่ง ในแถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) ญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกของกลุ่ม G7 ต่างร่วมกระตุ้นให้ WHO เปิดรับไต้หวันให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้ยกกรณีตัวอย่างว่า การประชุมเจรจาของกลุ่มคณะกรรมการด้านหลักประกันความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ - ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ - ญี่ปุ่น และแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างญี่ปุ่น - EU ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งสร้างความมั่นใจให้ประชาชนชาวไต้หวันได้รับทราบว่า ไต้หวันไม่ได้ต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการอย่างโดดเดี่ยว
.
งานแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในครั้งนี้ มี Mr. Pio d’Emilia ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ Sky TG24 ของอิตาลีที่ประจำอยู่ในประเทศภูมิภาคตะวันออกไกล และ Mr. Andy Sharp รองประธานสโมสร FCCJ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยมีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพี (Associated Press ,AP) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐฯ รายการโทรทัศน์บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน (Bloomberg Television) และสมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น (NHK) เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย