เครื่องผลิตไอศกรีมแท่งแบบกึ่งอัตโนมัติของกัวกั๋วเก๋อ ที่ยังต้องอาศัยประสบการณ์ในการจับจังหวะเวลาของการทำไอศกรีม
ร้านแห่งนี้ไม่มีการตกแต่งอันสวยหรู แต่มีส่วนผสมและวัตถุดิบสดใหม่ที่ถูกปรุงขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ ร้านแห่งนี้ไม่มีลมเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศ แต่กลับรู้สึกได้ถึงความเย็นจับใจผ่านรสชาติอันหวานละมุน การไปเยือนร้านน้ำแข็งไสที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตหมาโต้วและฉีซาน พร้อมรับประทานน้ำแข็งไสสักถ้วย ก็เหมือนกับได้ลองลิ้มชิมรสของรสชาติแห่งวันวานที่มาพร้อมกับความรู้สึกอันคุ้นเคยของวันวาน แถมยังช่วยขับไล่ความร้อนระอุแห่งคิมหันต์ได้ดีนักแล!
กินน้ำแข็งไสแทนอาหารเช้าตอนเจ็ดโมงเช้า
แสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณในช่วงฤดูร้อนจะมาถึงเร็วกว่าช่วงอื่น คุณจูสูเหม่ย (朱淑美) เถ้าแก่เนี้ยรุ่นที่ 3 ของร้านน้ำแข็งไสหลงฉวน (龍泉冰店) ตื่นขึ้นมาเตรียมข้าวของสำหรับเปิดร้านตั้งแต่ก่อนหกโมงเช้า ในฤดูกาลที่ผู้คนต้องวุ่นวายกับการทำการเกษตร จะมีลูกค้ามารับประทานน้ำแข็งไสกันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เพราะว่าพวกเขาต้องไปทำนาตั้งแต่ตีห้าจนถึงแปดโมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่แสงแดดกำลังแผดเผาพอดี การมารับประทานน้ำแข็งไสใส่วุ้นเฝินกั่ว (วุ้นทำจากแป้ง) กับวุ้นอ้ายอวี้ (โอ้เอ๋ว) สักถ้วยที่ร้านหลงฉวน ไม่เพียงแต่จะช่วยดับกระหาย หากแต่ยังทำให้รู้สึกอิ่มเหมือนได้รับประทานอาหารเช้าไปในตัว ส่วนลูกค้ากลุ่มที่สอง จะเป็นกลุ่มแม่บ้านที่ไปจับจ่ายซื้อของในตลาด และมักจะมาขอซื้อทั้งอ้ายอวี้กับเฝินกั่วใส่ถุงกลับบ้านเพื่อนำไปปรุงเป็นของหวานสำหรับรับประทานเอง
จูสูเหม่ยขะมักเขม้นอยู่กับการต้มถั่วแดงและเผือก พร้อมเล่าให้เราฟังว่า “การเติมน้ำตาลแดงเข้าไปในเฝินกั่ว จะช่วยให้เหล่าเกษตรกรที่ทำงานหนักจนเหงื่อไหลไคลย้อยท่ามกลางแสงแดดรู้สึกคลายร้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราใช้น้ำตาลแดงจากเป่าซานของซินจู๋ โดยทำจากแป้งมันเทศ 100% ไม่เหมือนกับร้านทั่วไปที่เติมแป้งมันสำปะหลังหรือสารปรุงแต่งอาหาร ถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เฝินกั่วของเราทั้งอ่อนนุ่มและมีความหนึบหนับเวลาเคี้ยว”
เมื่อลูกค้าเก่าแก่เดินเข้ามาในร้านแล้วสั่งว่า “ใส่ผง” ใส่ผง? ผงอะไร? ที่แท้ก็คือการใส่ผงเมี่ยนฉาลงไปในน้ำแข็งไสหรือน้ำบัวลอยร้อนๆ นั่นเอง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์แห่งรสชาติวันวานของร้านน้ำแข็งไสหลงฉวนแห่งนี้ ส่วนผสมต่างๆ ที่ใส่อยู่ในน้ำแข็งไสมักจะทำขึ้นจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจูสูเหม่ยอธิบายว่า “สมัยก่อนความเป็นอยู่อัตคัดขัดสน ไม่มีวัตถุดิบอะไรทั้งสิ้น มีเพียงแต่มันเทศซึ่งมีอยู่มากมาย จึงต้องใช้แป้งมันเทศมาทำเป็นเฝินกั่ว เส้นก๋วยเตี๋ยว และใช้แป้งหมี่มาทำเมี่ยนฉา (เครื่องดื่มชงจากผงแป้ง) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมสำหรับรับประทานพร้อมน้ำแข็งไส ดังนั้น สำหรับเหล่าเกษตรกรทั้งหลายแล้ว การรับประทานน้ำแข็งไสนอกจากจะได้คลายร้อนแล้ว ยังทำให้อิ่มท้องได้ด้วย”
ยอมทิ้งการเรียนเพื่อสืบทอดกิจการของครอบครัว
ร้านหลงฉวนเป็นร้านเก่าแก่ที่เปิดมานานนับร้อยปีแล้ว คุณหยางจิ่ง (楊井) เจ้าของร้านรุ่นแรก เริ่มต้นจากการหาบน้ำแข็งไสไปเร่ขายกับคณะละครเร่ ซึ่งต้องเดินทางไปตามตำบลต่างๆ หลังจากแต่งงานและให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน และบุตรสาว 6 คนแล้ว ก็เปลี่ยนมาเข็นรถขายน้ำแข็งไสที่หน้าตลาดบนถนนกวงฟู่ลู่ในเขตหมาโต้ว ก่อนที่รัฐบาลจะสร้างตลาดกลางหมาโต้ว (麻豆中央市場) ขึ้นในปีค.ศ.1951 หยางจิ่งจึงเปิดร้านขายน้ำแข็งไสขึ้นในตลาด โดยในตอนนั้น หยางจิ่งพำนักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหลงฉวนของหมาโต้ว จึงตั้งชื่อร้านของตัวเองว่าหลงฉวน (龍泉)
ในปี 1956 หยางจิ่งอยากจะปลดเกษียณตัวเอง จึงมอบร้านขายน้ำแข็งไสให้กับหยางชิงกุ้ย (楊清貴) เป็นผู้สืบทอด หยางชิงฟา (楊清發) ลูกชายคนรองจึงขอยืมเงินจากพี่ชายเพื่อเปิดร้านน้ำแข็งไสของตัวเองอยู่ในตลาด มีอยู่วันหนึ่ง หยางชิงฟาซึ่งมีหนี้สินติดตัวมากมาย นอนทอดถอนหายใจอยู่บนเตียง ก่อนจะเรียกหยางไห่หลง (楊海龍) ลูกชายที่เพิ่งจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้เข้ามาในห้อง จากนั้นก็ชูมือขึ้นพร้อมกับนิ้วทั้งห้า แล้วบอกกับลูกชายว่า ขอให้อยู่ช่วยงานที่บ้านเป็นเวลา 5 ปี
หยางไห่หลงจึงตัดสินใจละทิ้งการเรียน มาทำงานช่วยคุณพ่อไถ่ถอนหนี้สิน พร้อมทั้งตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า “จะต้องประสบความสำเร็จให้ได้” เจ้าตัวซึ่งเป็นคนขยันขันแข็ง ตื่นแต่เช้าทุกวันตอนตีสี่เพื่อมาช่วยคุณแม่ล้างผลอ้ายอวี้และต้มเฝินกั่ว หาเงินส่งน้องชายและน้องสาวให้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี และช่วยให้ธุรกิจของร้านน้ำแข็งไสค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ
หน้าร้านแบบบ้านๆ แต่รสชาติขั้นเทพ
5 ปีต่อมา หยางไห่หลงไม่เพียงแต่จะช่วยที่บ้านไถ่ถอนหนี้สินจนหมด เขายังได้งานทำที่บริษัทจงหัวเทเลคอม เจ้าหนุ่มแสนกตัญญูผู้นี้ ตื่นแต่เช้ามาช่วยตระเตรียมของสำหรับขาย ก่อนจะไปทำงานตอนเจ็ดโมงเช้า หลังจากเลิกงานก็รีบกลับบ้านมาช่วยคุณแม่ผัดเมี่ยนฉา
ความขยันขันแข็งของเจ้าตัวก็ถูกสะท้อนออกมาผ่านกรรมวิธีในการจัดเตรียมส่วนผสมต่างๆ เช่น เลือกใช้ผลอ้ายอวี้จากภูเขาอาลีซาน ซึ่งแม้จะมีต้นทุนสูง หากแต่เมื่อล้างออกมาแล้ว จะได้วุ้นอ้ายอวี้ที่มีคุณภาพดีกว่า หยางไห่หลงยืนหยัดที่จะใช้กรรมวิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 โดยใช้ข้าวเหนียวที่ปลูกในไต้หวันมาทำทังหยวน (เม็ดบัวลอย) เท่านั้น เริ่มตั้งแต่การซาวข้าว ตุ๋นจนกลายเป็นน้ำข้าวข้นๆ จากนั้นก็สะเด็ดน้ำออกจนกลายเป็นก้อน แล้วนำมานวดเป็นก้อนข้าวเหนียว
แม้แต่การทำเมี่ยนฉาก็ใช้ความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก โดยค่อยๆ ผัดในกระทะนาน 4-5 ชั่วโมง ขั้นตอนต่างๆ ในการทำส่วนผสมเหล่านี้ ต้องใช้เวลาในการทำนานมาก และต้องเสียเวลาทำซ้ำๆ กันทุกๆ วัน ถึงจะได้ส่วนผสมที่สดใหม่และมีรสชาติเอร็ดอร่อย ความมานะบากบั่นอย่างไม่ย่อท้อจึงถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ร้านเก่าแก่สามารถเปิดกิจการมาได้อย่างยาวนาน
เมื่อ 4 ปีก่อน หยางไห่หลงได้ปลดเกษียณจากการทำงานที่บริษัทจงหัวเทเลคอม กิจการของร้านน้ำแข็งไสก็ได้ส่งต่อให้กับลูกชายคือ หยางจวิ้นเสียง (楊竣翔) “ลูกชายของผมทำตัวเหมือนเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำบ้าน ในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ก็เรียกร้องให้ลูกค้าต้องใส่หน้ากากอนามัยก่อน ถึงจะสั่งน้ำแข็งไสได้” หยางไห่หลงยอมรับในความตั้งใจของลูกชาย และเชื่อมั่นว่า เขาจะสามารถสืบทอดกิจการของร้านเก่าแก่แห่งนี้ได้อย่างแน่นอน
สุดอินเตอร์! ร้านน้ำแข็งไสฉางเหม่ย ให้บริการได้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและอิตาลี
บนถนนในแถบอู๋เป่าของเขตฉีซานในนครเกาสง ร้านน้ำแข็งไสที่ตั้งอยู่ใต้หลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องสีแดง ดูแล้วเปล่งประกายสุกใสภายใต้แสงอาทิตย์อันแผดจ้า ผู้อนุบาลชาวอินโดนีเซียได้พาเจ้านายมารับประทานน้ำแข็งไสที่ร้านแห่งนี้ คุณกัวกั๋วเก๋อ (郭國格) เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 สามารถใช้ภาษาอินโดนีเซียมาเจรจากับผู้อนุบาลต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่ว เกสต์เฮาส์ที่มีชื่อว่า Yellow and Black ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเหม่ยหนงได้แนะนำให้ลูกค้าชาวฝรั่งเศสขี่จักรยานมาลองชิมน้ำแข็งไสที่ร้านนี้ เพราะไม่ต้องใช้ภาษามือ เถ้าแก่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ จึงสามารถช่วยลูกค้าสั่งน้ำแข็งไสมารับประทานได้ บาทหลวงชาวอิตาลีจากโบสถ์เซนต์โยเซฟก็ชอบมารับประทานน้ำแข็งไสที่นี่ เพราะลูกสาวซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของร้านก็สามารถพูดภาษาอิตาลีได้ แน่นอนว่าพูดภาษาอังกฤษก็ไม่มีปัญหา เพราะร้านน้ำแข็งไสฉางเหม่ยแห่งนี้ เคยได้รับตราเครื่องหมาย “ร้านค้าที่บริการด้วยภาษาอังกฤษ” จากสภาบริหาร (Executive Yuan) มาแล้ว ร้านขายน้ำแข็งไสที่อยู่ในชนบทแบบนี้ สามารถสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างมาก ว่าทำไมจึงมีความเป็นสากลได้ขนาดนี้
ที่แท้คุณกัวกั๋วเก๋อ เถ้าแก่รุ่นที่ 2 ของร้าน จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ด้วยวิชาเอกภาษาฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยเหวินฮั่ว (Chinese Culture University: CCU) โดยคุณกัวกั๋วเก๋อปลดเกษียณจากการทำงานให้สายการบินไชน่าแอร์ไลน์เมื่อ 18 ปีก่อน เพื่อมาสืบทอดกิจการของร้านเก่าแก่แห่งนี้ ในช่วงที่ยังทำงานกับไชน่าแอร์ไลน์อยู่นั้น คุณกัวกั๋วเก๋อเคยถูกส่งไปทำงานที่อินโดนีเซีย เคยไปอยู่ทั้งซาอุดิอาระเบียอันร้อนระอุ และสถานที่อันหนาวสุดขั้วอย่างอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว ถือว่ามีประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชนเป็นอย่างมาก ส่วนคนในร้านที่พูดภาษาอิตาลีได้คือคุณกัวอี๋หลิง (郭怡伶) บุตรสาวของคุณกัวกั๋วเก๋อ ที่เคยไปศึกษาต่อด้านการออกแบบที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
สิ่งที่ทำให้กัวกั๋วเก๋อในวัย 54 ปี ตัดสินใจปลดเกษียณจากการทำงานก่อนครบกำหนดก็คือ เมื่อคราวที่คุณพ่อเสียชีวิต ขณะนั้นคุณกัวกั๋วเก๋อถูกส่งไปประจำอยู่ที่เมืองแองเคอเรจในรัฐอะแลสกาที่อยู่เกือบถึงขั้วโลกเหนือ จึงมีความรู้สึกเสียใจมากที่ไม่ได้กลับมาพบหน้าคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากปลดเกษียณแล้วก็รู้สึกเห็นใจคุณแม่กับน้องสาวที่ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาร้านน้ำแข็งไสเก่าแก่แห่งนี้เอาไว้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “แม้จะมีเงินมากมายก็ไม่มีประโยชน์อะไร” ก่อนจะตัดสินใจกลับมาช่วยงานที่บ้านในที่สุด
เปิดร้านเพียงเพื่อปลดหนี้ แต่กลับสืบทอดมาได้ 3 รุ่นแล้ว
กัวกั๋วเก๋อเล่าให้เราฟังว่า ตอนแรกเขาคิดว่าจะกลับมาช่วยทำงานให้กับที่บ้าน แต่กลับกลายเป็นว่าต้องให้คุณแม่ คือคุณกัวหลี่ฉางเหม่ยที่มีอายุ 94 ปีแล้วมาช่วยทำงาน ในแต่ละวัน คุณแม่จะตระเตรียมส่วนผสมต่างๆ ที่ต้องใช้ ทั้งต้มถั่วแดงและเผือกมาให้เขาใช้ในการขายน้ำแข็งไส อาม่าวัยดึกผู้นี้มีแนวคิดทางธุรกิจอันชาญฉลาดและมีกำลังวังชาที่แข็งแรงเป็นอย่างมาก อาม่าบอกกับเราว่า “เคยคิดจะเลิกทำงาน แล้วก็ไปเที่ยว แต่ใครจะไปเที่ยวได้ 365 วันตลอดทั้งปี” สู้มาขายน้ำแข็งไสก็ไม่ได้ ให้ความรู้สึกดีกว่าเยอะ และเนื่องจากในชีวิตช่วงแรกค่อนข้างยากจน ในปีค.ศ.1945 กัวหลี่ฉางเหม่ยจึงเปิดร้านขายของที่บ้านของตัวเอง โดยขายทั้งกระดาษเงินกระดาษทอง น้ำมันงา มิโซะ และยังขายเครื่องดื่มเย็นๆ พวกชาดำเย็นและน้ำฟักด้วย
ในปีค.ศ.1982 กัวหลี่ฉางเหม่ยตัดสินใจลงทุนด้วยเงินหลายแสนเพื่อซื้อเครื่องทำไอศกรีม คุณกัวหลี่ฉางเหม่ยซึ่งชอบคิดอะไรใหม่ๆ ก็ได้คิดไอศกรีมแท่งออกมาถึง 16 รส และจนถึงตอนนี้เมื่อมองไปที่กำแพงของร้าน จะมีเมนูให้เลือกกว่า 30 รายการ ซึ่งต่างก็เป็นเมนูที่คุณกัวหลี่ฉางเหม่ยคิดขึ้นเองทั้งนั้น
การสืบทอดของร้านเก่าแก่
ในปีค.ศ.2003 มูลนิธิ Good Neighbor Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยเครือ President Chain Store Corp ที่เป็นผู้บริหารกิจการของ 7-11 ในไต้หวัน ได้สนับสนุนให้ร้านน้ำแข็งไสฉางเหม่ยเข้าร่วมในโครงการ “จากร้านเก่าสู่ยุคใหม่” ที่ให้ความช่วยเหลือร้านเก่าแก่ในการตกแต่งร้านขึ้นใหม่ จนทำให้มีสื่อมวลชนสนใจรายงานข่าวไม่น้อย และทำให้ร้านค้าเก่าแก่แห่งนี้กลายเป็นร้านที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ซึ่งคุณกัวกั๋วเก๋อ เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 ที่เคยเดินทางไปทั่วโลกมาแล้ว ก็ได้พยายามรักษาสูตรและเคล็ดลับของคุณแม่เอาไว้อย่างเต็มที่ หากแต่ความทันสมัยทำให้การทำไอศกรีมแท่งถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแบบกึ่งอัตโนมัติ เช่น การเติมวัตถุดิบ และการดึงไอศกรีมออกมา ต่างก็ใช้เครื่องจักรในการทำ กัวกั๋วเก๋อเล่าว่า “ที่ผ่านมา คุณแม่ต้องใช้มือทั้งสองข้างมายกถังน้ำแข็งเอง เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า ก็ทำให้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่ต้องออกแรงเยอะมากบิดเบี้ยวจนผิดรูปไป กัวเหรินหาว (郭人豪) ลูกชายของผม ก็เลยออกแบบง่ายๆ ด้วยการติดตั้งมือจับเอาไว้ ทำให้ทั้งสะดวกและทำงานง่ายขึ้น”
ในปี ค.ศ.2009 ซึ่งกัวเหรินหาวสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งไถหนาน เกิดเหตุพายุไต้ฝุ่นมรกตพัดผ่าน ทำให้ฉีซานเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จนน้ำท่วมถึงเข่า เจ้าตัวที่เรียนมาด้านการถ่ายทำสารคดีเล่าให้เราฟังว่า “สิ่งแรกที่ปรากฏขึ้นในหัว ไม่ใช่การขนของหนีน้ำ แต่เป็นการจับกล้องถ่ายรูปมาบันทึกเรื่องราวต่างๆ เอาไว้” และเนื่องจากร้านสาขาซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามที่ทำการไปรษณีย์ฉีซานได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทางบ้านจึงต้องการความช่วยเหลือ กัวเหรินหาวจึงตัดสินใจมาดูแลร้านที่นี่ ซึ่งเขากับพี่สาว คือ กัวอี๋หลิง ได้นำเอาภาพลักษณ์ความเป็นน้ำแข็งไสแบบของอาม่ามาใส่องค์ประกอบใหม่ๆ เข้าไป เพื่อออกแบบตกแต่งร้านขึ้นใหม่ ทำให้การมานั่งชิมน้ำแข็งไสที่ทำขึ้นอย่างพิถีพิถัน ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ของชนบท ให้ความรู้สึกราวกับว่า เวลาได้ถูกหยุดอยู่เพียงแค่ ณ ขณะนี้เท่านั้น