NDC วันที่ 15 มิ.ย. 64
เพื่อส่งเสริมให้ระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดนของไต้หวัน สามารถเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกเอเปคได้อย่างราบรื่น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) ได้รับแจ้งจากเอเปคอย่างเป็นทางการว่า การยื่นสมัครในการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ (Accountability Agent, AA) ภายใต้ระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดน (Cross Border Privacy Rules, CBPR) ของสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (Institute for Information Industry, III) ที่เร่งผลักดันโดย NDC ได้รับการอนุมัติจากเอเปคให้เป็นหน่วยงานแห่งที่ 9 ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวัน ในการยกระดับความปลอดภัยด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ผ่านการรับรองมาตรฐานของ CBPR ต่อไป ซึ่งไต้หวันนับเป็นสมาชิกเอเปคลำดับที่ 5 ที่ได้รับสิทธิ์ในการเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต่อจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
ระบบ CBPR ของเอเปค เป็นระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดน ที่สหรัฐฯ เร่งผลักดันภายใต้กรอบเอเปคมาเป็นเวลานาน นับเป็นมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้กรอบเอเปค นับตั้งแต่ปี 2011 ที่ได้มีการบังคับใช้มาตรการข้างต้นอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มูลค่าการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิกในระบบ CBPR ครองสัดส่วนทั่วโลกร้อยละ 39 นอกจากไต้หวัน ซึ่งเป็นศสมาชิกของเอเปคแล้ว ยังรวมไปถึง 8 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย สหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ โดยการที่ NDC ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบัน III ในการได้รับสิทธิ์ในการเป็นหน่วยงานภายใต้ระบบ CBPR จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการของไต้หวันเข้าใจและให้ความร่วมมือกับกฎหมายภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับความไว้วางใจของกลุ่มผู้บริโภคในการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ และยังสามารถจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท เชื่อมโยงเข้ากับระบบกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของเอเปค อันจะนำไปสู่การยกระดับภาพลักษณ์ของไต้หวันในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับนานาชาติ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและความร่วมมือการค้ารูปแบบดิจิทัลแบบข้ามพรมแดน เมื่อเปรียบเทียบกับระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation, GDPR) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวด ระบบ CBPR มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่เอื้อมถึงได้ง่ายกว่า สำหรับไต้หวันซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่เน้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นหลัก จะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจต่อกฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ผ่านการได้รับการรับรองจากระบบ CBPR ของ APEC