หนังสือพิมพ์ Liberty Times วันที่ 17 มิ.ย. 64
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลกประจำปี 2021 (IMD World Competitiveness Yearbook)พบว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 8 จากทั้งหมด 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ขยับขึ้น 3 อันดับจากปี 2020 ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา และอยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เป็นรองเพียงสิงคโปร์และฮ่องกง นางเกาเซียนกุ้ย รองประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) ชี้ว่า การจัดอันดับในครั้งนี้ ไต้หวันมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ทั้งในส่วนของ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” “ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งในจำนวนนี้ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” “ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ” ล้วนได้อันดับดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยขยับขึ้น 11 และ 5 อันดับตามลำดับ นับเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไต้หวันสามารถขยับขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกในปีนี้ได้สำเร็จ
นางเกาฯ อ้างอิงข้อมูลในรายงาน IMD พร้อมชี้ว่า การที่ประชาคมโลกจะสามารถสร้างความโดดเด่นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ความคล่องตัวในการรับมือกับสถานการณ์โควิด – 19 ของภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและศักยภาพด้านนวัตกรรม ระบบสวัสดิการสังคมและมาตการฟื้นฟู และความสามัคคีในสังคม การที่ไต้หวันสามารถทำอันดับได้ดีขึ้นในปีนี้ ถือว่าเป็นไปตามปัจจัยข้างต้นที่ได้ระบุมานี้ โดยในระหว่างสถานการณ์โควิด – 19 เมื่อปีที่แล้ว มาตรการป้องกันโรคระบาดแบบล่วงหน้า ศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พลังแห่งนวัตกรรมขององค์กรธุรกิจ และการผนึกกำลังในการสกัดกั้นโรคระบาดระหว่างภาครัฐและประชาชน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลอันดับในปีนี้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเด่นชัดมากกว่าที่ผ่านมา
ผลของการจัดอันดับในปีนี้ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” ของไต้หวันขยับขึ้น 11 อันดับมาอยู่อันดับที่ 6 นางเกาฯ ชี้ว่า การป้องกันโรคระบาดของไต้หวันในปีที่แล้วบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2020 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มีการพัฒนาเชิงบวกเช่นนี้ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร (GDP per capita) และผลิตภัณฑ์ประชาชาติที่แท้จริง (Real GDP) ต่างก็ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้า ก็ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของโลกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด – 19 การจัดอันดับในปีนี้ได้เพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาอีก 1 หมวด ได้แก่ “ดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ”โดยตัวชี้วัดนี้มุ่งเน้นไปที่การประเมินความหลากหลายและเอกลักษณ์ของสินค้าส่งออกของประเทศนั้นๆ โดยไต้หวันสามารถครองอันดับที่ 2 ของโลก แสดงให้เห็นว่า สินค้าส่งออกของไต้หวันมีความหลากหลาย เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งยากที่ประเทศอื่นจะมาแทนที่ได้
นอกจากนี้ ในหมวด “โครงสร้างพื้นฐาน” ของปีนี้ ไต้หวันขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่14 ซึ่งในจำนวนนี้ “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” ได้ขยับขึ้นมา 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 6 ด้วย ในจำนวนนี้ ในขณะที่สัดส่วนของบุคลากรด้านการวิจัยจำนวนประชากร 1,000 คนนั้น ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของโลก