สำนักข่าว CNA วันที่ 22 ก.ค. 64
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศรายงานผลการประเมินสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าไต้หวันเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเนื่องจากเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัย ในด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี 5G จึงนับเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับโลก
รายงานการประเมินประจำปีฉบับนี้ รวบรวมจากการวิเคราะห์และเรียบเรียงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐการของสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเนื้อหาในรายงานจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมการค้าแห่งชาติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ที่มีความประสงค์จะขยายและพัฒนาตลาดสู่ต่างประเทศต่อไป
ในส่วนของไต้หวัน รายงานของกต.สหรัฐฯ ระบุว่า ไต้หวันเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นหนึ่งใน 25 เขตเศรษฐกิจชั้นนำของโลก และยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีแรงงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ขณะเดียวกัน ไต้หวันยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ไต้หวันเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ทั้งด้านเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ 5G , AI และ IoT นับได้ว่าไต้หวันมีบทบาทเป็นประเทศผู้นำที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับโลก และเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในระดับภูมิภาค พร้อมกันนี้ รัฐบาลไต้หวันก็ได้เร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับบรรดานักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระดับภูมิภาค อันจะส่งผลให้เกิดการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน รายงานระบุว่า นักลงทุนบางรายในประเทศและนักลงทุนชาวต่างชาติ จัดให้ไต้หวันเป็น “แผนตัวเลือกด้านการเคลื่อนย้ายเชิงยุทธศาสตร์” โดยรัฐบาลไต้หวันได้เปิดดำเนินมาตรการข้างต้นนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการชาวไต้หวันที่ประกอบกิจการในจีน ให้กลับมาลงทุนในมาตุภูมิ เพื่อแก้ปัญหาในประเด็นที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสำคัญ ต้องเผชิญหน้ากับภาษีศุลกากรที่มีอัตราสูง ตลอดจนยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
ในด้านสภาพแวดล้อมการลงทุน รายงานชี้ว่า ไต้หวันยินดีเปิดรับและเร่งวางแนวทางการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) และร่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการในสหรัฐฯ และนานาประเทศ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีการวางแผนส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและ FDI เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้สิทธิพิเศษแก่เหล่าผู้ประกอบการเพื่อดึงดูดการลงทุน อีกทั้งยังใช้ข้อได้เปรียบด้านการผลิตและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัย ในการดึงดูดการลงทุนควบคู่ไปด้วย
รายงานของกต.สหรัฐฯ ยังชี้ว่า อุตสาหกรรมการเงิน การค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนเป็นประเภทอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนเป็นอันดับต้นๆ แต่นอกจากนี้ ไต้หวันยังสามารถดึงดูดนักลงทุนจากสหรัฐฯในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งเทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม และภาคบริการ เป็นต้น