สภาบริหาร วันที่ 28 ก.ค. 64
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า สภาบริหารมีกำหนดการจัดการประชุมนานาชาติรูปแบบออนไลน์ ภายใต้โครงการ “การผนึกกำลังสรรค์สร้างอนาคตที่ยอมรับซึ่งกันและกันของกลุ่มสตรีในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง” (APEC Women Builders Creating Inclusive Future Project) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ขึ้นในระหว่างวันที่ 28 – 29 ก.ค. โดยมีนายหลัวปิ่งเฉิง และออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวัน Ms. Renee Graham ประธานกลุ่มพันธมิตรด้านนโยบายเศรษฐกิจและสตรีของเอเปค รวมถึงตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการของไต้หวันและประเทศสมาชิกของเอเปค เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นโอกาสและความท้าทายของกลุ่มสตรีในการก้าวเข้าสู่แวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างและวิศวกรรม รวมถึงแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของนานาประเทศ เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มสตรีให้ได้รับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ แถลงว่า นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ไต้หวันได้ยื่นเสนอแผนพัฒนาศักยภาพสตรีบนเวทีเอเปคหลายครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มสตรีเข้าสู่แวดวงอาชีพการงานที่มีค่าตอบแทนสูงและมีอนาคตที่กว้างไกล ทั้งนี้ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในด้านการประกอบอาชีพ พร้อมส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี โดยในปี 2019 ทางสนง.ฯ ได้ผลักดันโครงการ “การผนึกกำลังสรรค์สร้างอนาคตที่ยอมรับซึ่งกันและกันของกลุ่มสตรีในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง” ที่ยึดอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินอุดหนุนจากเอเปคแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากเขตเศรษฐกิจของเอเปคเกินครึ่งหนึ่งด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะค้นหาสาเหตุของปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศของฐานเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม และการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารและผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายที่เป็นผู้หญิง ผ่านการแบ่งปันและการสำรวจวิจัยแบบข้ามพรมแดน พร้อมนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจถึงข้อได้เปรียบในมุมมองทางเพศสถานะที่จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กรหรือธุรกิจได้
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ชี้ว่า การสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 วันในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลสัมฤทธิ์ในโครงการข้างต้น โดยมีสถาปนิกและวิศวกรหญิงที่เปี่ยมด้วยทักษะความสามารถระดับสูงที่มาจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ และไต้หวัน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองของตน สำหรับรวบรวมเป็น “คู่มือต้นแบบที่ดีที่สุด” เพื่อสร้างแรงกำลังใจให้กลุ่มสตรีเข้ามีส่วนร่วมในแวดวงอาชีพด้านสถาปัตย์และวิศวกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ทำการสำรวจและรวบรวมประสบการณ์ของเหล่าผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการในแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงในการยื่นเสนอ 4 หลักการด้านการพัฒนานโยบาย ประกอบด้วย “ส่งเสริมให้สตรีเข้าร่วมในแวดวงอาชีพด้านสถาปัตยกรรม” “ลดความขัดแย้งระหว่างการทำงานและความสัมพันธ์ในครอบครัว” “สรรค์สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มั่นคงและปลอดภัย ”และ “สร้างหลักประกันด้านโอกาสการพัฒนาในอาชีพการงานอย่างเท่าเทียม”พร้อมเสนอคำชี้แนะอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อชี้นำให้หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนจัดวางมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป