สำนักข่าว CNA วันที่ 29 ก.ค. 64
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. สภาตรวจสอบ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัววารสารฉบับพิเศษ วาระครบรอบ 90 ปี โดยนางสาวเฉินจวี๋ ประธานสภาตรวจสอบ กล่าวว่า ปรัชญาของคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนคือส่งเสริมให้ประเทศชาติก้าวสู่สังคมที่เปี่ยมด้วยจิตสำนึก พร้อมแสวงหาแนวทางเพื่อเข้าร่วมในเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะผู้สังเกตการณ์ และยกระดับสู่การเป็นประเทศสมาชิก เพื่อร่วมก้าวไปข้างหน้าพร้อมประชาคมโลก และร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน
นส.เฉินฯ ชี้ว่า นับตั้งแต่ที่ตนเข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา สภาตรวจสอบได้มุ่งมั่นให้บริการด้านการตรวจสอบที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย โดยทางสภาฯ จะเร่งเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบอันความหลากหลาย ตามพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งของประเด็นใหม่ๆ รวมไปถึงเสริมสร้างการพัฒนาบุคลากรในองค์กรอย่างครอบคลุม พร้อมเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ระบบดิจิทัล จัดตั้งคลังข้อมูล เพื่อคุณภาพในการดำเนินภารกิจการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นส.เฉินฯ ระบุอีกว่า หลังจากที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการจัดระบบองค์กรคณะกรรมการในสภาตรวจสอบใหม่แล้ว หน่วยงานต่างๆ ในสภาได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น และต่างมีการพัฒนาที่รุดหน้าอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ สภาตรวจสอบยังเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการตามหลักกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information laws) โดยได้เร่งส่งเสริมให้ระบบกฎหมายมีความความครอบคลุมสมบูรณ์ ตลอดจนมุ่งมั่นในการปฏิรูปภารกิจด้านการเมืองให้เกิดความโปร่งใสต่อไป
นส.เฉินฯ เห็นว่า คกก.กิจการสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ในการดำเนินภารกิจใน 2 ประการหลัก ได้แก่ เสริมสร้างกลไกหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประเทศชาติก้าวสู่สังคมที่เปี่ยมด้วยจิตสำนึก โดยในปีนี้ สภาฯ ได้มุ่งเน้นไปที่ปัญหาประเด็นแรงงานประมงต่างชาติ พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการจัดตั้งกลไกหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนแบบข้ามพรมแดน คาดหวังว่าภายในปลายปีนี้ เว็บไซต์ที่ผ่านการออกแบบและปรับปรุงใหม่ของคกก.กิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะสามารถเปิดให้บริการแก่ภาคประชาชน พร้อมมุ่งไปสู่เป้าหมายในอนาคต ที่จะจัดทำเว็บไซต์ให้ทุกคนสามารถใช้งานได้โดยไม่มีอุปสรรค
ในตอนท้าย เฉินฯ เน้นย้ำว่า ในส่วนของการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ ทางสภาฯ จะแสวงหาแนวทางเพื่อให้ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมในเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะผู้สังเกตการณ์ พร้อมยกระดับไปสู่การเป็นประเทศสมาชิก เพื่อร่วมก้าวไปข้างหน้าพร้อมประชาคมโลก และร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน