ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 18 ส.ค. 64
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต 2021” ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยรองปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อเผชิญหน้ากับยุคหลังโควิด – 19 อนาคตของไต้หวันจำเป็นต้องอาศัยคุณค่าด้านอุตสาหกรรมนวัตกรรม ประกอบกับดำเนินการวางแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการลงทุน รวมถึงพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน จึงจะสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจและเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสำคัญแห่งการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ รองปธน.ไล่ฯ ยังได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ในการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเต็มกำลัง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนแสวงหาโอกาสธุรกิจด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
การกล่าวปราศรัยของรองปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต ครั้งที่ 4 ที่นิตยสาร “Business Today” เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า โดยได้เข้าร่วมหารือกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและวิชาการในประเด็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระดับสากลในอนาคต
ในปีที่แล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในไต้หวันได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 8.19 แต่เนื่องจากโรคโควิด – 19 สายพันธุ์ใหม่ยังคงลุกลามไปทั่วโลกอย่างไม่สามารถควบคุมไว้ได้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในไต้หวันก็ลุกลามเป็นวงกว้าง แต่ยังดีที่รัฐบาลสามารถควบคุมไว้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทุกหน่วยงานต่างมุ่งมั่นในการบรรเทาผลกระทบให้เกิดความรุนแรงน้อยที่สุด
ในด้านคุณค่าอุตสาหกรรมนวัตกรรม รัฐบาลไต้หวันนอกจากจะอาศัยข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรม ICT เป็นพื้นฐาน ผลักดัน “โครงการอุตสาหรรมนวัตกรรม 5+2” อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลัก ส่งเสริมการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ในด้านแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่หลากหลาย รัฐบาลยังคงเร่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการลงทุนในสหรัฐฯ โดยผลักดันให้เกิดการประชุมเจรจาระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ ภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement, TIFA) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความร่วมมือทางห่วงโซ่อุปทาน และการค้ารูปแบบดิจิทัล อีกทั้งยังได้จัดการประชุมว่าด้วยห่วงโซ่อุปทานกับสหภาพยุโรป (EU) และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึง ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วนกับกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรมและบุคลากร รวมไปถึงมุ่งมั่นในการเข้ามีส่วนร่วมใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP)
สำหรับการยกระดับศักยภาพด้านการลงทุน รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นผลักดันโครงการการลงทุนในไต้หวันรวม 3 โครงการ เพื่อสร้างช่องทางการลงทุนที่สะดวกให้กับเหล่าผู้ประกอบการ
เมื่อเผชิญหน้ากับแนวโน้มการปลอดคาร์บอนระดับโลก รัฐบาลได้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไต้หวัน ตามหลักการพัฒนาพลังงานสีเขียว เพิ่มโอโซน ลดเชื้อเพลิงถ่านหิน และปลอดนิวเคลียร์
การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพลังงานแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันระดับสากลของภาคอุตสาหกรรม รองปธน.ไล่ฯ จึงขอเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมประสานความร่วมมือกับภาครัฐบาลในการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทน อย่างเต็มที่ต่อไป