ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รองปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต 2021”
2021-08-19
New Southbound Policy。รองปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต 2021” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
รองปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต 2021” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 18 ส.ค. 64
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต 2021” ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยรองปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อเผชิญหน้ากับยุคหลังโควิด – 19 อนาคตของไต้หวันจำเป็นต้องอาศัยคุณค่าด้านอุตสาหกรรมนวัตกรรม ประกอบกับดำเนินการวางแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการลงทุน รวมถึงพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน จึงจะสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจและเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสำคัญแห่งการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ รองปธน.ไล่ฯ ยังได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ในการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเต็มกำลัง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนแสวงหาโอกาสธุรกิจด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
 
การกล่าวปราศรัยของรองปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยไต้หวันแห่งอนาคต ครั้งที่ 4 ที่นิตยสาร “Business Today” เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า โดยได้เข้าร่วมหารือกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและวิชาการในประเด็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระดับสากลในอนาคต
 
ในปีที่แล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในไต้หวันได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 8.19 แต่เนื่องจากโรคโควิด – 19 สายพันธุ์ใหม่ยังคงลุกลามไปทั่วโลกอย่างไม่สามารถควบคุมไว้ได้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในไต้หวันก็ลุกลามเป็นวงกว้าง แต่ยังดีที่รัฐบาลสามารถควบคุมไว้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทุกหน่วยงานต่างมุ่งมั่นในการบรรเทาผลกระทบให้เกิดความรุนแรงน้อยที่สุด
 
ในด้านคุณค่าอุตสาหกรรมนวัตกรรม รัฐบาลไต้หวันนอกจากจะอาศัยข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรม ICT เป็นพื้นฐาน ผลักดัน “โครงการอุตสาหรรมนวัตกรรม 5+2” อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลัก ส่งเสริมการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
 
ในด้านแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่หลากหลาย รัฐบาลยังคงเร่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการลงทุนในสหรัฐฯ โดยผลักดันให้เกิดการประชุมเจรจาระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ ภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement, TIFA) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความร่วมมือทางห่วงโซ่อุปทาน และการค้ารูปแบบดิจิทัล อีกทั้งยังได้จัดการประชุมว่าด้วยห่วงโซ่อุปทานกับสหภาพยุโรป (EU) และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึง ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วนกับกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรมและบุคลากร รวมไปถึงมุ่งมั่นในการเข้ามีส่วนร่วมใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) 
สำหรับการยกระดับศักยภาพด้านการลงทุน รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นผลักดันโครงการการลงทุนในไต้หวันรวม 3 โครงการ เพื่อสร้างช่องทางการลงทุนที่สะดวกให้กับเหล่าผู้ประกอบการ
 
เมื่อเผชิญหน้ากับแนวโน้มการปลอดคาร์บอนระดับโลก รัฐบาลได้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไต้หวัน  ตามหลักการพัฒนาพลังงานสีเขียว เพิ่มโอโซน ลดเชื้อเพลิงถ่านหิน และปลอดนิวเคลียร์
 
การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพลังงานแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันระดับสากลของภาคอุตสาหกรรม รองปธน.ไล่ฯ จึงขอเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมประสานความร่วมมือกับภาครัฐบาลในการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทน อย่างเต็มที่ต่อไป