กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 23 ส.ค. 64
“เทศกาล SeaShorts Film Festival ครั้งที่ 5” ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – มาเลเซีย ได้เปิดฉากขึ้นผ่านรูปแบบออนไลน์ในระหว่างวันที่ 25 ส.ค. – 2 ก.ย. โดยในระหว่างเทศกาลครั้งนี้ จะมีการเปิดฉายผลงานภาพยนตร์สั้นรวม 60 เรื่องที่รวบรวมได้จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา ไทย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ในจำนวนนี้ ภาพยนตร์สั้นของไต้หวันที่เคยคว้ารางวัล Golden Harvest Awards รวม 4 เรื่อง ได้รับคัดเลือกให้ถูกนำมาเปิดฉายในช่วงรายการ sinomovie ภายใต้ธีม “No Home Movies”
โดยภาพยนตร์สั้นของไต้หวันรวม 4 เรื่องดังกล่าวได้นำเสนอถึงบทวิเคราะห์และผลกระทบที่มีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของบรรดาผู้อพยพ หลังจากที่เดินทางกลับสู่ถิ่นบ้านเกิดของตน หรือการเล่าบรรยายเรื่องราวชีวิตของผู้อพยพที่มีอุดมคติในการเดินตามความฝันของตนในต่างแดน แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกหวงแหนอดีตที่ตนละทิ้งมา โดยผลงานดังกล่าวประกอบด้วย ผลงานที่กำกับและผลิตโดย Ms. Hu Ching-Chuan ชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอยู่ในเมียนมา ที่หัวใจสำคัญของเนื้อเรื่องอยู่ที่การค้นหา “รากเหง้าถิ่นกำเนิดของตน” (Remigrate) ต่อมาคือผลงานภายใต้ชื่อ “Pulang” ของ Mr. Yam Kin Wai ผู้กำกับชาวมาเลเซียที่พำนักอยู่ในไต้หวัน ซึ่งเปรียบเสมือนจดหมายที่เขียนถึงครอบครัวโดยบรรยายความรู้สึกจากประสบการณ์ที่ต้องจากถิ่นกำเนิดของตน ส่วนผลงานภายใต้ชื่อ “There” ของ Ms. Wu Yufen ได้บรรยายถึงเรื่องราวของผู้อนุบาลชาวอินโดนีเซียที่กลายมาเป็นตัวแทนของครอบครัวเจ้าภาพงานศพตามประเพณีดั้งเดิมของไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมี “Before And After” ซึ่งเป็นผลงานของ Mr. Han Hsiu Yu ที่ได้บรรยายเรื่องราวของคู่สมรสต่างชาติชาวไต้หวันที่แต่งงานมาอาศัยอยู่ที่ไต้หวัน
เทศกาล SeaShorts Film Festival เริ่มมีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2017 โดยได้จัดรวบรวมผลงานภาพยนตร์สั้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาเปิดฉายที่มาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยกิจกรรมหลักของทุกปี ประกอบด้วย การประกวดผลงานภาพยนตร์ sinomovie การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงผลงานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและยกย่องชื่นชมเหล่าผู้กำกับและผลิตผลงานสำหรับความทุ่มเทในการสร้างสรรค์ ซึ่งเทศกาลดังกล่าวได้กลายมาเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่สำคัญประจำปีของกลุ่มคนที่ชื่นชอบภาพยนตร์สั้นและคณะกรรมการที่ทำการคัดเลือกผลงานในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ ทั้งในไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาวและมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งตราบจนปัจจุบันได้เปิดฉายผลงานภาพยนตร์สั้นมาแล้วกว่า 420 เรื่อง