ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-การประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ประจำปี 2021 ” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า
2021-09-01
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-การประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ประจำปี 2021 ” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-การประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ประจำปี 2021 ” ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 31 ส.ค. 64
 
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมกล่าวปราศรัยใน “การประชุม Ketagalan-การประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ประจำปี 2021 ” (Ketagalan Forum—2021 Asia-Pacific Security Dialogue) ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ไต้หวันสามารถเป็นแกนหลักที่ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาในภูมิภาคได้ โดยไต้หวันยินดีที่จะรับหน้าที่ในการเสริมสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพให้เกิดแก่ภูมิภาค พร้อมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การเคารพซึ่งหลักการสันติภาพ เสถียรภาพ และการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยและรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันและการส่งมอบความช่วยเหลือรวมถึงการประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก ต่างสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของไต้หวัน และเหตุผลที่ว่าทำไมไต้หวันจึงมีความสำคัญ
 
คำปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าต้องขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประชุม Ketagalan ในปีนี้ และขอขอบคุณ H.E. Kelly Craft ผู้แทนถาวรของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติที่ให้เกียรติเข้าร่วม แม้ว่าเวลาท้องถิ่นจะดึกมากแล้วก็ตาม ในปีนี้พวกเราก็ยังคงจัดการประชุมรูปแบบออนไลน์ขึ้นอีกครั้ง ภายใต้บริบทที่ทั่วโลกต่างมุ่งมั่นในการเร่งสกัดกั้นโรคโควิด – 19 สายพันธุ์เดลตาอย่างเต็มกำลัง
 
ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลก โดยเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ได้สร้างหลักประกันด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศให้กับทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การผงาดขึ้นของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกก็นำมาซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดรูปแบบใหม่และความขัดแย้งด้านระบอบการปกครอง ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดจากการผงาดขึ้นของลัทธิอำนาจนิยม ก็อาจนำมาซึ่งความท้าทายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ลัทธิอำนาจนิยมเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระหว่างสถานการณ์โควิด – 19 ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ารูปแบบการปกครองที่พวกเขานำเสนอ สอดคล้องต่อความต้องการมากกว่า เมื่อเทียบกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
 
ในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ” (QUAD) ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย รวมถึง “การเชื่อมโยงระหว่างยุโรป - เอเชีย” (Europe-Asia Connectivity) ที่เสนอโดยสหภาพยุโรป ต่างทยอยเสนอกลยุทธ์ด้านการเชื่อมโยง ภายใต้พื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม และตั้งมั่นอยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งไต้หวันเพียบพร้อมคุณสมบัติที่เป็นเลิศ นับเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้ในด้านการปฏิวัติประชาธิปไตย เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
 
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือกับผู้กระทำการในระดับภูมิภาค พร้อมรับหน้าที่ในการเสริมสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพให้เกิดแก่ภูมิภาค ตลอดจนไม่มองว่าการได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรด้านความมั่นคงเป็นสิ่งที่สมควรได้รับ 
 
พวกเราไม่ฝักใฝ่ในการเผชิญหน้าทางทหาร โดยพวกเราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การเคารพซึ่งหลักการสันติภาพ เสถียรภาพ และการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยและรูปแบบการดำเนินชีวิต
 
โดยในช่วงต้นของการแพร่ระบาด ไต้หวันได้บริจาคเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดให้แก่ประชาคมโลก เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือ โดยประชาคมโลกก็ได้ตอบแทนด้วยการส่งมอบวัคซีนเพื่อช่วยเหลือไต้หวันเช่นเดียวกัน
 
สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐลิทัวเนีย สาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งเป็นกลุ่มมิตรประเทศของไต้หวัน ต่างยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุด โดยปธน.ไช่ฯ ขอใช้โอกาสนี้ แสดงความขอบคุณต่อเหล่ามิตรประเทศด้วยใจจริง แม้ว่าความท้าทายจะยังคงอยู่ในภาวะรุนแรง แต่ปธน.ไช่ฯ เล็งเห็นว่ากลุ่มประเทศประชาธิปไตยยังคงมุ่งมั่นในการธำรงรักษาระบอบการปกครองและค่านิยมสากล รวมถึงมุ่งมั่นในผลประโยชน์ของประชาคมโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของพวกเรา นับวันยิ่งมีความแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือและประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก ต่างสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของไต้หวัน และเหตุที่ว่าทำไมไต้หวันจึงมีความสำคัญ
 
ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้เชิญชวน H.E. Kelly Craft และทุกคนที่เข้าร่วมในการประชุม เดินทางมาเยือนไต้หวันหลังสถานการณ์โควิด – 19 ทุเลาลง เพื่อสัมผัสประสบการณ์ความงดงามของไต้หวัน