กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 ก.ย. 64
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภายุโรป ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างแก้ไขของรายงาน “ความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไต้หวัน - EU” (EU-Taiwan Political Relations and Cooperation) ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แสดงความขอบคุณและรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภายุโรปได้นำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมในประเด็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – EU เป็นครั้งแรก พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสัมพันธ์ทางความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – EU ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังของรัฐสภายุโรป จะก้าวไปสู่หลักชัยใหม่
ใจความสำคัญในรายงานฉบับข้างต้น ระบุว่า รัฐสภายุโรปให้ความสำคัญต่อกรณีที่กองทัพจีนใช้กำลังทหารในการข่มขู่ไต้หวัน ซึ่งวัตถุประสงค์ของรายงานฉบับนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติพฤติกรรมต่างๆ ที่จะเป็นการทำลายเสถียรภาพระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมยืนหยัดในจุดยืนที่ว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามของความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบและความยินยอมจากประชาชนไต้หวันก่อน โดยในรายงานยังได้เรียกร้องให้ EU กำหนดให้ไต้หวันเข้าเป็นหุ้นส่วนสำคัญใน “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” ของ EU ด้วย นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังส่งเสริมให้ EU ทำการแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงกับไต้หวัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมมาธิการยุโรปเร่งดำเนินการประเมินผลกระทบ (impact assessment) กำหนดขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) และปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) สำหรับความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – ยุโรป ให้แล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ เพื่อเตรียมเปิดการเจรจาภายใต้กรอบความตกลง BIA กับไต้หวันอย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีร่างแก้ไขฉบับอื่นๆ ที่ได้มีการลงมติในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ ร่างญัตติที่เสนอแนะให้ Mr. Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง แก้ไขชื่อหน่วยงานจาก “สำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรปในกรุงไทเป” (European Economic and Trade Office in Taipei) เป็น “สำนักงานตัวแทน EU ในไต้หวัน” (EU Office in Taiwan)
การที่ไต้หวันและสาธารณรัฐลิทัวเนียตัดสินใจจัดตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในดินแดนระหว่างกัน นับเป็นบทพิสูจน์ที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศสมาชิกของ EU ในเชิงลึก โดยไต้หวันจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากภายนอก แต่จะยังคงยึดมั่นในแนวคิดด้านประชาธิปไตย ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับ EU สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ให้คงอยู่และแข็งแกร่งยิ่งขึ้นสืบไป